top of page

YOUR BLOG
YOUR VOICE
YOUR IDEA
กระทู้ในฟอรัม
รัตนพล ยางขันธ์
08 ก.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 8 ว่าด้วยเรื่อง การเล่นแชร์ การเล่นแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่ ? ประชาชนส่วนมากเข้าใจว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนยังสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างอิสระ แต่ต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยมีกฎหมายที่ควบคุม กำกับ ดูแลการเล่นแชร์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ . 2534 ซึ่งได้บัญญัติคำนิยามของการเล่นแชร์ไว้ว่า หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เล่นแชร์อย่างไร ? ไม่ให้ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 การเล่นแชร์ (มาตรา 4) 1. บุคคลตั้งแต่ 3 คนตกลงเป็นสมาชิกวงแชร์ 2. ส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ 3. เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนการรับทุนกองกลางโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด ข้อห้าม กรณีบุคคลธรรมดา (มาตรา 6) 1. เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง 2. มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันมากกว่า 30 คน 3. มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงมากกว่า 300,000 บาท กรณีนิติบุคคล (มาตรา 5) ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ กรณีอื่นๆ 1. ห้ามโฆษณาชี้ชวนประชาชนให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 9) 2. ห้ามใช้ชื่อธุรกิจหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า แชร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (มาตรา 10) บทลงโทษ - บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 6 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลาง แต่ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ •ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
2
1k
รัตนพล ยางขันธ์
08 ก.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 9 ว่าด้วยเรื่อง หนี้บัตรเครดิต ? การติดหนี้บัตรเครดิตหรือผิดนัด จะดำเนินคดีอย่างไร การติดหนี้บัตรเครดิตแล้วไม่ยอมจ่าย จะถือว่าเป็นคดีแพ่ง ทางธนาคารจะฟ้อง ถ้าคุณได้รับสำเนาการฟ้องแล้ว หรือตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง ข้อมูลถูกต้องก็ให้ไปเจรจากับทางธนาคารฯ หรือถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ควรให้ไปหาทนายความสู้ว่าความกันต่อไป โดยปกติแล้วการใช้บัตรเครดิตการใช้บัตรเครดิตเมื่อมีการผิดนัดก็จะมีดอกเบี้ยปรับในจำนวนที่สูงมาก ๆ ซึ่งเบี้ยปรับนั้นคุณสามารถบอกกับศาลให้เข้าใจว่า “เงินต้นมีเท่านี้จริง” ถ้าคุณไม่มีการโต้แย้งในเรื่องของเงินต้น อาจจะทำให้คุณเสียเงินเป็นจำนวนมากตามคำสั่งศาลได้ และแน่นอนว่าคุณจะต้องเสียทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยปรับที่สูงมาก ๆ คำสั่งศาลที่ว่า “ถ้าผู้ที่ทำบัตรเครดิตไม่ชำระหรือปฏิบัติตาม จะถูกยึดทรัพย์ ถูกจับ กักขังตามกฎหมาย” หมายความว่าอย่างไร สำหรับคำสั่งศาลดังกล่าว เป็นลักษณะของการบังคับที่เป็นไปตามกฎหมาย แต่กฎหมายในทางแพ่งนี้คือ เจ้าหนี้ หรือธนาคารมีสิทธิเพียงแค่ยึดทรัพย์เท่านั้น นั่นคือ ถ้าคุณมีความผิดข้อหาไม่ชำระหนี้บัตรเครดิต ทางเจ้าหนี้หรือธนาคาร จะฟ้องดำเนินคดีได้เท่านั้น แต่ถ้าทรัพย์ของคุณที่มี ที่ทางธนาคารต้องยึดนั้น ไม่เพียงพอกับหนี้สินของคุณ หรือหนี้สินของคุณมีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่คุณถูกยึด จากกฎหมายบังคับคดี ทางเจ้าหนี้ หรือธนาคารจะติดตามยึดทรัพย์ของคุณถึง 10 ปี แต่ถ้าครบ 10 ปี แล้วไม่มีทรัพย์ให้ยึด กฎหมายก็จะหมดอายุความ ทำให้คดีสามารถจบได้ เมื่อคดีและการตามยึดทรัพย์จากทางธนาคารครบ 10 ปีแล้ว สำหรับคำสั่งที่ว่า ถูกจับ ถูกขังตามกฎหมาย คือ สภาพบังคับแล้ว คุณขัดขืนหมายศาล ขัดขืนการยึดทรัพย์ ไปกระทำการโต้แย้งต่าง ๆ ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดฐานขัดการดำเนินการตามการบังคับคดี คุณจะถูกจับ ถูกกักขังได้ เพราะเจ้าหนี้นั้นมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ถ้าศาลบังคับคดีมาแล้ว คุณไม่ควรไปขัดขืน หรือกระทำการขัดขวางการยึดทรัพย์ที่เป็นไปตามกฎหมาย ถ้ากระทำการขัดขวางจะถูกจับขังทันที แต่ในทางกลับกัน ถ้าเจ้าหนี้ทำการยึดทรัพย์ ไม่สมเหตุสมผล หรือไม่ตามความจริงที่คุณต้องชำระ เจ้าหนี้ตีราคาทรัพย์ที่ยึดจากคุณต่ำกว่าความเป็นจริง คุณก็สามารถไปคัดค้านได้ โดยการไปทำเรื่องฟ้องต่อศาล หรือปรึกษาทางด้านการเงิน และควรมีการจ้างทนายความด้วย เพื่อสามารถตรวจสอบและแก้ไขคดี และเป็นการช่วยคัดค้านการไม่สมเหตุสมผลของทางธนาคารที่จะยึดทรัพย์ของคุณ แต่อย่างไรก็ตามคุณจะไม่ถูกจับติดคุกได้ เนื่องจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตถือเป็นคดีแพ่งเท่านั้น แต่คุณก็แค่ไปชำระหนี้สินก็พบแล้ว และอย่าไปขัดขืนเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์หรือไปกระทำการใด ที่ไม่ดีเพราะอาจจะทำให้คุณถูกกักขังได้ ซึ่งก็เป็นไปตามตัวบทกฎหมายครับ ขอบคุณที่มาจากhttps://moneyhub.in.th/article/what-happens-if-i-dont-pay-my-credit-card-bill/ ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
1
1k
รัตนพล ยางขันธ์
08 ก.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 10 ว่าด้วยเรื่อง เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ? ที่ดิน นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มีราคา และมีประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างยิ่ง เช่น ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ในการเกษตรกรรม ใช้ในการอุตสาหกรรม ใช้เป็นหลักประกัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ ที่ดินยังเป็นเครื่องแสดงฐานะความเป็นอยู่ของแต่ละคนด้วย เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน มีอยู่หลายประเภทที่ควรรู้ และที่สำคัญ -แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) -หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. ๓ , น.ส. ๓ ก. , น.ส. ๓ ข. -ใบไต่สวน (น.ส. ๕) -โฉนดที่ดิน ประโยชน์ของโฉนดที่ดิน ทำให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินยึดถือไว้เป็นหลักฐาน เกิดความมั่นคงในหลักกรรมสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของตนทั้งต่อรัฐและในระหว่างเอกชนด้วยกันทำให้รู้ตำแหน่งแหล่งทำให้สามารถระงับการทะเลาะวิวาท การโต้แย้ง หรือแย่งสิทธิในที่ดินหรือการรุกล้ำแนวเขตที่ดินซึ่งกันและกัน คำเตือน เอกสารสำคัญทั้งหมดนี้แม้จะแสดงถึงการเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่นแล้วก็ตามถ้าหากท่านปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน กล่าวคือ ถ้าเป็นที่ดินที่โฉนดที่ดิน ปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 10 ปี และที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้นานเกิน ๕ ปีติดต่อกัน ที่ดินดังกล่าวจะต้องตกเป็นของรัฐตามกฎหมาย หรือถ้าหากปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองโดยสงบเปิดเผย โดยมีเจตนาเอาเป็นเจ้าของโดยท่านไม่เข้าขัดขวาง สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเป็นเวลา ๑๐ ปีติดต่อกันบุคคลที่เข้าครอบครองนั้นก็จะมีสิทธิไปดำเนินคดีทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองได้ และที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข) ใช้เวลาแย่งการครอบครองเพียง ๑ ปีเท่านั้น ท่านก็จะเสียสิทธิ ดังนั้นเมื่อที่ดินของท่านมีเอกสารสำคัญดังกล่าวอยู่แล้ว ก็ควรทำประโยชน์และดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ดินก็จะเป็นของท่าน และเป็นมรดกที่มีค่าให้แก่ทายาทของท่านต่อไป ขอบคุณที่มาจากhttp://www.dol.go.th กรมที่ดิน ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
0
97
รัตนพล ยางขันธ์
08 ก.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 11 ว่าด้วยเรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญทางกลิ่น ? เหตุเดือดร้อนรำคาญมลพิษทางกลิ่น สำหรับการควบคุมปัญหากลิ่นเหม็นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในด้านมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดและกฎเกณฑ์ในการควบคุมสิ่งที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ดังนี้ -พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้อำนาจกรมควบคุมมลพิษใน การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้าน รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ควรเป็นเครื่องชี้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่แท้จริงในแต่ละเขตแล้วสะท้อนไปสู่มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ต้องสอดคล้องมาตรฐานคุณภาพอากาศที่เป็นเสมือนเพดานดังกล่าว รวมทั้งมีอำนาจในการปรับหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษได้ -พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้อำนาจกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ ดังนี้ •กำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษหรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน •กำหนดข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ทราบเป็นครั้งคราวหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ •และยังมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 4 ( ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ . ศ . 2514) กำหนดให้โรงงานต้องกำจัดกลิ่น เสียง ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้าถ่านที่เกิดจากการประกอบกิจการมิให้เป็นที่เดือดร้อนหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้อาศัยใกล้เคียง -พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศในแง่มุมของการกระทำให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ จำนวน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 25 กำหนดลักษณะกิจการหรือการกระทำที่ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งรวมถึงการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (มาตรา 25(4)) มาตรา 26 และมาตรา 27 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถมีดุลพินิจที่จะชี้ว่าการกระทำใดเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ และสามารถใช้อำนาจทางบริหารห้ามมิให้มีการก่อเหตุรำคาญ หรือให้ระงับป้องกันเหตุรำคาญนั้นเสีย อย่างไรก็ดีเหตุเดือดร้อนรำคาญนี้ โดยลักษณะตามธรรมชาติของปัญหาจะเป็นกรณีที่มีสิ่งรบกวนเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาว่าสิ่งรบกวนนั้นเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญที่ต้องห้ามหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่อยู่ในวิสัยที่สามารถออกมาตรฐานมาควบคุม ป้องกันเอาไว้ก่อนได้ ขณะที่การควบคุมมลพิษอากาศด้านกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้นสามารถควบคุมป้องกันได้โดยตรง โดยกำหนดเป็นมาตรฐานในการกำจัด และจัดการของเสียที่มีสารก่อกลิ่นให้ถูกวิธี อย่างไรก็ตามหากเกิดข้อร้องเรียนที่ยังเป็นปัญหาว่ากิจการนั้น ๆ ได้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านกลิ่นหรือไม่ก็จำเป็นต้องหามาตรการตรวจวัดกลิ่นเพื่อตัดสินว่าจะต้องมีการแก้ปัญหาเพิ่มเติมอย่างไร หากปัญหาความขัดแย้ง หรือการร้องเรียนนั้นอยู่ในระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารปกครองกรม หรือกระทรวงที่ดูแลอยู่ก็ สามารถหามาตรการในการตรวจวัดที่เหมาะสมมาพิจารณา โดยอาจตั้งเป็นคณะกรรมการพิสูจน์กลิ่น หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจของตนเอง หรือโดยอาศัยความเห็นจากประชาชนในบริเวณที่เกิดเหตุ -พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองแรงงานที่ทำงานภายในโรงงาน โดยกำหนดให้สถานประกอบการต้องดำเนินการเพื่อให้คุณภาพอากาศในสถานประกอบการมีความปลอดภัยต่อคนงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม ( สารเคมี ) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2520 โดยได้กำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยสำหรับลูกจ้าง โดยกำหนดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานไม่ให้เกินค่าที่กำหนด และหากมีค่าสารเคมีหรือฝุ่นแร่กระจายสู่บรรยากาศของการทำงานเกินกว่ากำหนดต้องปรับปรุงแก้ไข ขอบคุณที่มาจากhttp://http://www.pcd.go.th ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
1
11k
รัตนพล ยางขันธ์
12 มี.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
สรุประบบเลือกตั้งใหม่ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ให้เข้าใจง่ายที่สุด ดังนี้ ส.ส. มีทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น แบบบัญชีรายชื่อ กับ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เมื่อเราได้เข้าคูหา บัตรเลือกตั้งจะเหลือเพียงใบเดียวคือบัตรให้เลือก ส.ส. เขต ซึ่งจะมีแต่เบอร์ผู้สมัคร โดย ส.ส. ระบบเขตมี 350 คน จาก 350 เขตเลือกตั้ง แต่ที่ลำบากนิดหน่อยคือ กฎหมายกำหนดให้จับเบอร์ผู้สมัครทุกเขต สมมติผู้สมัครของพรรค ก. ใน กทม. เขตที่ 1 จับได้เบอร์ 10 ผู้สมัครของพรรค ก. ใน กทม. เขตที่ 2 อาจจับได้เบอร์ 1 ดังนั้น ใน 30 เขตเลือกตั้งของ กทม. พรรค ก. จะมีหลายหมายเลขผู้สมัคร กลับมาที่การนับคะแนนตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ส. เขตมี 350 คน จาก 350 เขต ผู้สมัคร ส.ส. เขตที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้นจะได้เป็น ส.ส. แต่คะแนนที่ได้ต้องมากกว่าคะแนน Vote No กรณีไม่มีใครได้คะแนนมากกว่าคะแนน Vote No ให้จัดเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่ ส่วนกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับสลากต่อหน้า กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง เมื่อได้ ส.ส. เขต 350 คนแล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คนมาจากไหน สำหรับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะต้องมาดูกันอีกทีว่าพรรคของตนได้สัดส่วนเท่าไรในคะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศ ตามสูตรการคำนวณดังนี้ เอาคะแนนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ลบด้วย Vote No และบัตรเสียออกก่อน (คิดบนสมมติฐานว่าทุกพรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)นำจำนวนดังกล่าวหารด้วย ส.ส. ทั้งหมด 500 คน จะได้คะแนนโดยประมาณต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คนสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. คำนวณคะแนนตามข้อ 2 คาดว่าจะได้ 70,000 คะแนน ต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คนเอาคะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคที่ได้ หารด้วย 70,000 จะได้จำนวนที่เรียกว่า ‘ส.ส. พึงจะมี’ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะมีได้ไม่เกินจำนวนนี้สูตรคำนวณว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่าไร ให้เอา ‘ส.ส. พึงจะมี’ ลบด้วย ‘ส.ส.เขต’ ที่พรรคนั้นได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้ อดีต กกต. สมชัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น พรรคการเมืองขนาดกลางได้ ส.ส. เขตมาแล้ว 30 คน สมมติว่าได้คะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศ 3,500,000 คะแนน สูตรคำนวณ ส.ส. พึงจะมีคือ 3,500,000 หาร 70,000
ส.ส. พึงจะมีของพรรคขนาดกลางนี้คือ ส.ส. 50 คน นำ ‘ส.ส. พึงจะมี’ (50 คน) ลบด้วย ‘ส.ส. เขต’ (30 คน) = พรรคขนาดกลางนี้จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 20 คน ส่วนกรณีพรรคขนาดใหญ่ อดีต กกต. สมชัยสมมติว่า พรรคขนาดใหญ่พรรคหนึ่ง ชนะได้ ส.ส. เขต 200 คน คะแนน ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศได้มากถึง 13,500,000 คะแนน แต่เมื่อนำมาคำนวณได้ ส.ส. พึงจะมี: 13,500,000 หาร 70,000 = 192 คน นำ ‘ส.ส. พึงจะมี’ (192 คน) ลบด้วย ‘ส.ส. เขต’ (200 คน) = -8 หมายความว่าพรรคขนาดใหญ่นี้จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว สูตรการเลือกตั้งแบบใหม่นี้เป็นผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องเล่นเกมแยกสาขาพรรค ส่วนพรรคขนาดกลางก็ได้เปรียบ ด้วยโอกาสได้จำนวน ส.ส. มากขึ้น เปิดช่องให้นำไปต่อรองว่าจะร่วมกับพรรคใดในการตั้งรัฐบาล
1
1
501
รัตนพล ยางขันธ์
12 มี.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 7 ว่าด้วยเรื่อง การกู้ยืมเงิน “ผู้ให้กู้ควรทำอย่างไรถึงจะมั่นใจว่าจะไม่โดนโกง” หลักฐานการกู้ยืมเงินให้พิจารณา 4 อย่าง ต่อไปนี้ •1. ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ •2. ผู้กู้ยืมเงินต้องลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น •3. หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ทำขึ้นเมื่อใด •4. การกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ยกขึ้นฟ้องหรือต่อสู้คดีไม่ได้ ดังนั้น หากท่านใดจะเป็นผู้ให้กู้ควรพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นให้ดี ท่านจะได้มีหลักฐานครบถ้วนที่จะยกฟ้องคดีได้ •ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
0
17
รัตนพล ยางขันธ์
12 มี.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง ที่ดิน ส.ป.ก. •ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร ที่ดิน ส.ป.ก. คือ ที่ดินบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยไม่สามารถนำมาออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ หรือจะเรียกกันง่ายๆ ก็คือ ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่ทางภาครัฐยกให้แก่เกษตรกรเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ดินในการทำมาหากินด้านการเกษตร – ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 นี้ ห้ามผู้ครอบครองขาย หรือเปลี่ยนมือให้แก่ผู้อื่น ยกเว้นการเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทต่อไป – ที่ดินนี้จะต้องใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ห้ามนำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นเด็ดขาด – หากเมื่อไหร่ที่ที่ดินนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ทางผู้ครอบครองต้องคืนให้แก่รัฐบาล หมายเหตุ อย่างไรก็ตาม สามารถทำการแบ่งแยก หรือโอน หรือเป็นมรดกตกทอดไปยังบุคคลอื่นในครอบครัวได้ ไม่ว่าจะเป็น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นต้น มีสิทธิเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อการเกษตรกรรมเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่นใด และจะจดทะเบียนจำนองไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นโครงการจากทางรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน ซึ่งสิทธิของที่ดินนั้นก็ยังเป็นของทางภาครัฐอยู่ ซึ่งหากเราไม่ต้องการก็สามารถคืนที่ดินให้แก่ภาครัฐได้ และในขณะเดียวกันหากรัฐได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินในการทำกิน ทางภาครัฐก็สามารถเรียกคืนที่ดินจากเราได้เช่นเดียวกัน ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
0
9
รัตนพล ยางขันธ์
12 มี.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายมรดก ตอนที่ 5 ว่าด้วยเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดก •การแบ่งมรดกโดยมีพินัยกรรม กรณีมีพินัยกรรม พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่แสดงเจตนาของเจ้ามรดกว่าใครจะรับมรดกทรัพย์สินและส่วนไหนที่มีใครจะได้รับหลังจากเจ้ามรดกตาย หากเจ้ามรดกไม่ได้ร่างพินัยกรรมไว้ล่วงหน้าว่าใครจะได้อะไรนั้น มาตรา 1599 ได้กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าทรัพย์สินคุณจะมีมากหรือน้อยเท่าใด เจ้ามรดกคงต้องการให้แน่ใจว่าจะจัดสรรไปยังบุคคลที่สมควรจะได้รับหลังจากที่ตาย ประเทศไทยก็คล้ายๆกับหลายประเทศ (มาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) • เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดอยู่แก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแห่งมาตรา 1599 •ในประเทศไทยถ้าบุคคลใดตายลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินย่อมตกไปแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย (ทายาทตามกฎหมาย) (มาตรา 1603 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) • กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม •ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม“ ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม" ตามมาตรา 1603 ดังนั้นหากมีพินัยกรรมต้องแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมระบุก่อนถ้ามีทรัพย์สินอื่นนอกเหนือที่ระบุไว้หรือไม่ได้ทำพินัยกรรมก็สามารถแบ่งได้ดังนี้คือแบ่ง • ทายาทโดยธรรมๆมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ1.สืบสันดาน 2. บิดามารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา ตามมาตรา 1629 •คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
1
0
186
รัตนพล ยางขันธ์
12 มี.ค. 2562
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายมรดก ตอนที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง สินส่วนตัว • สินส่วนตัว คือ
1.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
2.ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะที่เป็นอยู่ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของคู่ฝ่ายสมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างที่สมรสกันโดยการรับมรดก หรือโดยการให้ด้วยเสน่หา
4.ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น
การนำทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว ไปแลกเปลี่ยนได้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หรือนำสินส่วนตัวไปซื้อทรัพย์สินอย่างอื่น หรือขายสินส่วนตัวได้เป็นเงิน หรือกรณีที่สินส่วนตัวได้ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือบางส่วน และเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาทดแทนในกรณีดังกล่าว สินส่วนตัวที่ได้แลกเปลี่ยน หรือซื้อเป็นทรัพย์สินอื่น หรือขายได้เป็นเงิน รวมทั้งเงินทดแทนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้มาทดแทนนั้น ย่อมเป็นสินส่วนตัวด้วย ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี •พบกันใหม่ในตอนที่ 5 ว่าด้วยเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดก ในจดหมายข่าวฉบับหน้าครับ
1
0
17
รัตนพล ยางขันธ์
15 พ.ย. 2561
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายมรดก ตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง สินสมรส เมื่อชายและหญิงได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายการสมรสนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งทางด้านครอบครัว ทางด้านความสัมพันธ์หลังจากจดทะเบียนสมรส ทั้งทางด้านทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งทรัพย์สินนั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้ 1.สินส่วนตัว และ 2.สินสมรส 1. สินสมรส
(1.) ทรัพย์สินใด ๆ ที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ อันนอกเหนือจากสินส่วนตัวไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าหากคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นได้รับมาก็ให้ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น อาจจะเป็นเงินเดือน เงินโบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น หลัก ๆ เงินที่ทำมาหาได้รวมกันในระหว่างการสมรสถือได้ว่าเป็นสินสมรสรวมกันระหว่างสามีภริยา เช่นนี้หากสามีนำเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสที่เป็นสินสมรสไปซื้อ บ้าน ผ่อนคอนโด ซื้อที่ดิน หรือแม้กระทั่งรถยนต์ แต่ใส่ชื่อตนเองเป็นผู้ซื้อ หากจะขายหรือโอนให้ใคร ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส ไม่เป็นสินส่วนตัว
(2.) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม โดยพินัยกรรมนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่า ยกให้เป็นสินสมรสของใครกับใคร เช่น นาย ก ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้เป็นสินสมรสระหว่าง นาย ข กับนาง ค เช่นนี้เป็นสินสมรส แต่ถ้าหากว่า นาย ก ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ นาย ข แต่เพียงผู้เดียวถือได้ว่าเป็นสินส่วนตัวมิใช่เป็นสินสมรสแต่อย่างใด
(3.) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลที่ได้จากสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” ตามกฎหมายแล้วหมายถึงผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามทั่วไป หรืออาจเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฎหมายก็ได้ เช่น การนำสินส่วนตัวซึ่งเป็นบ้านเช่า ออกให้เช่า เงินค่าเช่าถือได้ว่าเป็นสินสมรส หรือ การนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารให้ดอกเบี้ยมา ดอกเบี้ยนั้นถือได้ว่าเป็นสินสมรส เป็นต้น ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี •พบกันใหม่ในตอนที่ 4 ว่าด้วยเรื่องสินส่วนตัว ในจดหมายข่าวฉบับหน้าครับ
1
1
2k
รัตนพล ยางขันธ์
07 พ.ย. 2561
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายมรดก ตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพินัยกรรม พินัยกรรม หมายถึง นิติกรรมซึ่งบุคคลแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว รูปแบบของพินัยกรรมนั้น มี 5 แบบ ดังนี้ [1] พินัยกรรมแบบธรรมดา [2] พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ [3] พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง [4] พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ [5] พินัยกรรมทำด้วยวาจา ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานนิติการ สำนักงานปลัด อบต.คำนาดี •พบกันใหม่ในตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องสินสมรส ในจดหมายข่าวฉบับหน้าครับ
1
0
115
รัตนพล ยางขันธ์
07 พ.ย. 2561
In แบ่งปันความรู้
กฎหมายมรดก ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องทายาท มีคำถามว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดก หรือเป็นทายาทของผู้ตาย บุคคลซึ่งจะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย กฎหมายกำหนดไว้ 2 ประเภทคือ 1.ทายาทโดยพินัยกรรม คือใครก็ได้ที่มีชื่อในพินัยกรรมที่ผู้ตายมอบทรัพย์สินให้ 2.ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยผลของกฎหมาย คือ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก 4.พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดากับเจ้ามรดก 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6.ลุง ป้า น้า อา ซึ่งทายาทโดยธรรมนี้จะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายต่อเมื่อ ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนเอาไว้ หรือจำหน่ายไว้ไม่หมด เช่น นายจันทร์ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่ นายอินทร์น้องชายต่างมารดา ส่วนที่ดินแปลงอื่น และทรัพย์สินอื่นนายจันทร์ไม่ได้ทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใด เช่นนี้ ที่ดินแปลงซึ่งยกให้แก่นายอินทร์ก็ตกทอด ได้แก่ นายอินทร์ ส่วนที่ดินแปลงอื่น และทรัพย์สินอื่นก็จะตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายจันทร์ •พบกันใหม่ในตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องพินัยกรรม ในจดหมายข่าวฉบับหน้าครับ
1
0
520
bottom of page