top of page

อบต.คำนาดี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้


การจัดการความรู้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางาน โดยนำองค์ความรู้ขององค์กรมาพัฒนาและแก้ไขระบบการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พุทธศักราช 2546 มาตรา 11 กำหนดให้ส่วนราชการ มีหน้าที่พัฒนาความรู้ในองค์กร เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีการเรียนรู้ร่วมกัน ประกอบกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กำหนดให้การจัดการความรู้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในมิติด้านการพัฒนาองค์กร โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับในส่วนราชการ


ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีวิธีการบริหารงานที่ดี องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีจึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานและการจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำหลักการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่สามารถกำหนดขึ้นและนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มาจัดทำเป็นแผนการจัดการองค์ความรู้ขึ้น เพื่อที่จะให้มีการรวบรวม จัดระบบ เผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานเพื่อให้บุคลากรสามารถนำประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และเป็นกรอบในการจัดทำกิจกรรม/โครงการจัดการความรู้ และส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้


โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ตลอดจนการสังเคราะห์งานให้เป็นระบบ เพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาระบบบริหารงานภายในองคกร และการบูรณาการการจัดการความรู้สู่การพัฒนางานที่ปฏิบัติจริง สำหรับกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ คือ บุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีทุกส่วนงาน ได้แก่ คณะผู้บริหาร พนักงานส่วนตำบล พนักงานครู และพนักงานจ้าง จำนวน 40 คน


ก่อนการบรรยายในช่วงเช้า นายณรงค์ เจริญไทสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ได้กล่าวเปิดงานและให้โอวาทแก่บุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีให้ตระหนักถึงการจัดการความรู้ว่า...

“ความรู้” เป็นเรื่องที่สำคัญ และการที่จะเก็บความรู้ในตัวบุคคลนั้น ๆ เพื่อให้ดำรงอยู่คู่กับองค์กรนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยมีบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่การทำงานที่จะสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับงานนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงประสบการณ์เท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรอยู่ตลอดเวลาจึงจำเป็น
นอกจากการมีความรู้แล้ว องค์กรจำเป็นต้องมีการจัดการความรู้ เพราะความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในตัวของบุคลากรแต่ละคนที่อุทิศตัวให้กับการทำงานให้องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีมานานหลายปีก็จะติดตามคน ๆ นั้นไปเมื่อเกษียรอายุ ย้ายที่ทำงาน หรือลาออกจากราชการ ดังนั้น เพื่อให้ความรู้อยู่คู่องค์กรตลอดไป พัฒนาองค์กรแห่งนี้ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีขีดสมถรรนะในการทำงานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดการองค์ความรู้ขึ้น และขอให้บุคลากรทุกท่านตระหนักถึงการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอยู่เสมอ และให้นำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนางาน พัฒนาองค์กร และพัฒนาท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

ในกิจกรรมช่วงเช้า เป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในองค์กร และการสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดย ดร.วิสิทธิ์ มะณี อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ การยกกรณีศึกษา การจัดการความรู้ขององค์กรตัวอย่างทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน และรัฐวิสาหกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมการค้นหาผู้รู้ในองค์กรว่าองค์กรมีผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ เพื่อสกัดเอาความรู้นั้นมาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนให้บุคลากรในส่วนงานเดียวกันรวมถึงส่วนงานอื่น ๆ รับรู้ด้วย


ในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายในหัวข้อ การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน โดยอาจารย์จตุรงค์ ศรีสุธรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากช่วงเช้า หลังจากการค้นหาผู้รู้ในตัวภารกิจงานแล้ว เพื่อให้ผู้รู้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานในส่วนงานที่ตัวเองรับผิดชอบอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแบ่งกลุ่มระดมสมอง ถอดบทเรียนในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาว่ามีข้อจำกัดและอุปสรรคอะไร รวมถึงการค้นหาวิธีการแก้ไขและการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกิจกรรมดังกล่าวทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย บุคลากรให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะทำให้องค์กรแห่งนี้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้






ดู 34 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page