อบต.คำนาดี จัดโครงการพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างองค์ความรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวปวงชนชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา นับเป็นปรัชญาและกระบวนการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้ในทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน กลุ่มองค์กร จนถึงระดับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นพลวัตทุกวินาทีโดยยึดหลักการสำคัญ คือ การทำตนให้เป็นที่พึ่งตนมีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ตนเองและชาติโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอมเห็นแก่ประโยชน์รวมเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งเป็นอิสระ การรู้จักให้ใช้และจัดการอย่างฉลาดพร้อมทั้งหาทางเพิ่มมูลค่า โดยให้ยึดอยู่บนหลักการของความยั่งยืน การพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงโดนยืนอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน และเลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องตรงกับความต้องการ ความประหยัด และสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเอง และการปรับเปลี่ยนวิธีคิดโดยมุ่งลดรายจ่ายก่อน เป็นสำคัญและยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 67 ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ต้องมีการเรียนรู้และหาแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการจากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการด้านบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการศึกษาโครงการพระราชดำริ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์และปรับใช้ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี มีความสุข
ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี จึงได้จัดทำโครงการอบรมและศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี สำหรับคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานส่วนตำบล และพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการอบรมและศึกษาดูงานจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีโลกทัศน์มีทักษะและประสบการณ์ปฏิบัติงานเพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาระบบงานและจัดทำบริการสาธารณะภายในท้องถิ่น การส่งเสริม พัฒนาให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืน และการขยายผลต่อยอดช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้
การบรรยาย หัวข้อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
ในวันแรก (18 กุมภาพันธ์ 2562) มีการจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรเกี่ยวกับ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี" บรรยายโดย นายจิรัฏฐ์ ธีสุระ ท้องถิ่นอำเภอเมืองบึงกาฬ โดยในช่วงแรก
ได้บรรยายถึง บทบาทและอำนาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตามสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล จากนั้นจึงบรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good governance โดย อปท. จำเป็นต้องยึดหลัก 6 ประการ ว่า ประการแรก หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจกันปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของ ตัวบุคคล ประการที่สอง หลักคุณธรรม ได้แก่ การส่งเสริมคนดีคนเก่งให้เข้ามาบริหารกิจการบ้านเมือง สังคม และประเทศชาติ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่รัฐยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนใจมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ ประการที่สาม หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทำงานของทุกองค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้ ประการที่สี่ หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่นๆ ประการที่ห้า หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน และประการที่หก หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า กล่าวคือ ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งสร้างสรรค์สินค้า และบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ดีในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์
ท้องถิ่นอำเภอ ได้สรุปส่งท้ายว่า "หากทั้งภาคราชการประจำ การเมือง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จะต้องมุ่งมั่นให้งานราชการดำเนินไป ด้วยจิตสำนึก ทัศนคติ พฤติกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งใช้หลักการโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่นๆ "
การศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
หลังการอบรมเสร็จสิ้น บุคลากร อบต.คำนาดี ได้เดินทางไปจังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 โดยการศึกษาดูงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงทดลองของโครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน และสถานีบำบัดน้ำเสียชุมชน โดยยึดหลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพอื่น ๆ จากผลผลิตจากสภาพธรรมชาติที่ดีอันเนื่องมาจากโครงการฯ เช่น การใช้พืชที่ปลูกไว้ใช้ในการกรองน้ำเสีย เช่น กกธูป เพื่อทำจักสาน การทำประมง และจับสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลนที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้น

ต่อมาได้การศึกษาดูงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตามประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช 2467 ครอบคลุมพื้นที่ 2,627 ไร่ เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะตัวเนื้อทรายซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นลงมากินน้ำในลำห้วยเป็นจำนวนมาก พื้นที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ห้วยทราย” ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกินและมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยขาดหลักวิชาการ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และมีปริมาณลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษา จนเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติเกิดการ การพังทลายของดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีปริมาณสูงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทรายว่า “หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่เข้าทำกินอยู่เดิม ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ได้ประโยชน์จากป่าไม้ และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า “ระบบป่าเปียก” ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ เพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบเข้าร่วมกิจกรรมการดูแลรักษาป่าประกอบอาชีพ โดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต นอกจากนี้ยังให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อจะให้ประชาชนผู้ยากไร้อยู่รอด และธรรมชาติอยู่รอด
การศึกษาดูงานการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

หลังจากการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จึงได้เดินทางเพื่อไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท่าไม้รวก เทศบาลตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
ซึ่งถือเป็นสถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดู จัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ให้เด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 – 5 ปี ให้มีความพร้อม ด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา ปัจจุบันมีนักเรียนและเด็กเล็ก จำนวน 103 คน บริหารงานโดย นายสิริศักดิ์ สมบัติทวีพูน นายกเทศมนตรีตำบลท่าไม้รวก มีครูผู้ดูแลเด็กและผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก รวมจำนวน 5 คน บทบาทหน้าที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท่าไม้รวก คือ การให้บริการ การอบรมเลี้ยงดู การจัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นสถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดูจัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ดังนั้น ระยะเวลาการจัดการเรียนรู้และแนวทางการจัดการเรียนรู้ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมเพื่อให้เด็กเล็กได้รับการศึกษาและพัฒนาเป็นไปตามวัยแต่ละช่วงอายุ สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ให้เด็กเล็กพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ตาม ระยะเวลาเรียนรู้ในรอบปีการศึกษาโดยเปิดภาคเรียนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 230 วัน
หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมและการศึกษาดูงานเสร็จสิ้น ก่อนเดินทางกลับองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี คณะผู้บริหาร โดยนายหมื่น วาสิงหล ให้บุคลากรสรุปสิ่งที่ได้จากการอบรมและดูงานที่ผ่านมา และมอบหมายให้ทุกหน่วยราชการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติและการจัดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง