top of page

คุณกำลังอ่าน

โครงการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิประโยชน์ของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น

ข่าวสาร อบต.

โครงการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิประโยชน์ของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566

อบต.คำนาดี จัดโครงการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิประโยชน์ของประชาชน
และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ.2566

อบต.คำนาดีได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิประโยชน์ของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ.2566

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ใช้จัดการกับ ความขัดแย้งอาชญากรรมบางประเภท และการกระทำผิดด้วยกระบวนวิธีการที่คำนึงถึงการชดใช้ เยียวยาผู้เสียหาย เรียกร้องความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด และให้ความสำคัญ ต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมุ่งหมายให้เกิดผลลัพธ์แห่งความสมานฉันท์ของสังคม ที่สำคัญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนในระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนในท้องถิ่น ให้ได้รับการพัฒนาในองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการประนอมข้อพิพาท สร้างเสริมความเข้มแข็งของทุกชุมชน โดยกำหนดให้ผู้นำชุมชนมีบทบาทในการประนีประนอมข้อพิพาทและป้องกันเฝ้าระวังอาชญากรรม เพื่อลดปริมาณคดีและความขัดแย้งทางสังคม
ปัจจุบันชุมชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ได้ขยายตัวขึ้น ทั้งการเพิ่มของจำนวนประชากร และความเจริญทางวัตถุ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในชุมชนหมู่บ้านจึงได้แปรเปลี่ยนไปจากสังคมที่ยึดมั่นในจารีตประเพณี กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีการแข่งขัน สังคมที่ใช้เทคโนโลยี สังคมที่ให้ความสำคัญทางวัตถุมากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม และสัมพันธภาพในครอบครัว จึงเกิดความขัดแย้งในหลายมิติ กลายเป็นคดีความต่างๆทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทาง ทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนเป็นจำนวนมาก เพื่อลดคดีพิพาทต่างๆให้น้อยลง และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนให้รวดเร็วและเป็นธรรมยิ่งขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังมีอยู่ ไม่มีทีท่าจะลดลงแต่ประการใด
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ในอดีตอาศัยระบบการประนีประนอมข้อพิพาท โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นที่ได้รับความเคารพนับถือในหมู่บ้านหรือชุมชนซึ่งทราบความเป็นไปของสังคมในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นเป็นอย่างดี เป็นผู้แก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมระงับข้อพิพาทภายในท้องถิ่นของตน ซึ่งก็ได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน เมื่อสังคมแปรเปลี่ยนไป กรณีพิพาทในเรื่องต่างๆก็มากขึ้น หากคู่กรณีหาทางตกลงกันเองไม่ได้ ก็ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล วิธีการนี้แม้จะเป็นทางหนึ่งที่สามารถยุติปัญหาข้อพิพาทลงได้ แต่การแพ้ชนะกันค่อนข้างเด็ดขาด บางครั้งกลับก่อให้เกิดความบาดหมางกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการนำคดีขึ้นสู่ศาล ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ต้องเสียเวลาและไม่สะดวก บางกรณีไม่คุ้มค่าในการดำเนินการฟ้องร้อง ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นแก่คู่กรณี ทำให้กระบวนการทางศาลไม่อาจเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของคนในสังคมเสมอไป และอาจเป็นเหตุให้กลับนำข้อพิพาทให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นยุติปัญหาข้อพิพาทให้ ซึ่งกระบวนการยุติข้อพิพาทของคู่กรณีบางรายอาจจะใช้วิธีรุนแรง เช่น การด่าทอ การทำร้ายร่างกาย จนถึงการฆาตกรรม เป็นต้น
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี จัดตั้งศูนย์ยุติธรรมในชุมชนขึ้นเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และจัดกิจกรรมการสนับสนุนการประนอมและระงับข้อพิพาทระดับท้องถิ่นหรือชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร มีความรู้ความสามารถในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในท้องถิ่น โดยยึดหลักกฎหมาย จารีตประเพณีท้องถิ่น และสังคมจิตวิทยาพื้นบ้านของสังคมไทย มาเป็นปัจจัยในการช่วยการประนอมและระงับข้อพิพาทในชุมชน ลดความขัดแย้ง ลดข้อพิพาท และ
ลดการนำคดีขึ้นสู่ศาลลง อันเป็นการสร้างความสามัคคีธรรมแก่สังคมส่วนรวม และประหยัดงบประมาณในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และสามารถนำเงินงบประมาณของรัฐในด้านนี้ไปพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญในด้านอื่นได้ ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี จึงได้จัดทำโครงการให้ความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้นและสิทธิประโยชน์ของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๖6 นี้ขึ้น เพื่อให้ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น นำความรู้ ทักษะจากการเข้ารับการฝึกอบรมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการระงับข้อพิพาทอย่างสัมฤทธิ์ผล

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทในการไกล่เกลี่ย ประนอมและระงับข้อพิพาทในท้องถิ่นเพื่อลดปริมาณคดีเล็กๆน้อยๆลงตั้งแต่ในระดับชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอันเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งของราษฎรและแผ่นดิน
2. เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการกระจายความช่วยเหลือทางกฎหมายสู่ระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้สังคมเข้มแข็งและสงบสุขถ้วนหน้า

กลุ่มเป้าหมาย
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มต่างๆในท้องถิ่น อาสาสมัคร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน

หัวข้อวิชา
5.1 ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเบื้องต้นที่ประชาชนควรรู้ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายมรดก กฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา ความรู้เบื้องต้นกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
5.2 ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการประนอมและระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญา
5.3 การดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
5.4 บทบาทของผู้นำชุมชนและคณะกรรมการไกล่เกลี่ยในการประนอมและระงับข้อพิพาท