top of page

คุณกำลังอ่าน

รู้จัก Social Distancing ห่างกันสักนิด ลดการแพร่ไวรัส COVID-19

รู้ทันป้องกันโควิด-19

รู้จัก Social Distancing ห่างกันสักนิด ลดการแพร่ไวรัส COVID-19

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563

จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลก เราอาจจะเห็นคำว่า ‘Social Distancing’ ตามการรายงานข่าวหรือตามโซเชียลมีเดียผ่านตาอยู่บ่อย ๆ หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่า Social Distancing นั้นคืออะไร และมีวิธีอย่างไร

Social Distancing หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า ‘การเว้นระยะห่างทางสังคม’ ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้สามารถเข้าใจง่าย ๆ คือการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมถึงการลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น และการทำงานอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้การทำ Social Distancing จะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คน นอกจากนี้ การเว้นระยะเช่นนี้ ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขมีเวลาเตรียมความพร้อมในการรับมือผู้ป่วยจำนวนมากได้ ซึ่งใช้สำหรับทุกคนในสังคม รวมทั้งผู้ที่อาจจะยังไม่ได้มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือผู้สงสัยว่าอาจติดเชื้อโดยตรง

Social distancing เป็นหนึ่งในมาตรการลดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถใช้ได้กับโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือจากการสัมผัสอื่น ๆ อีกด้วย

ข้อแนะนำในการทำ Social Distancing

1. การยืนนั่งห่างกันอย่างน้อย 1.5-2 เมตร (อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยที่เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่ไปได้ ซึ่งตามคำแนะนำสากลส่วนใหญ่ คือ 6 ฟุต คิดเป็น 1.83 เมตร)

2. การปิดโรงเรียน หรืองดคลาสเรียน หันมาเรียนออนไลน์

3. งดการรวมตัวกันในสถานศึกษา ที่ทำงาน หรือสถานบันเทิงต่าง ๆ อาจมีการยกเลิกกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น งานเทศกาลสงกรานต์ หรือการรวมญาติในงานไหว้บรรพบุรุษในคนไทยเชื้อสายจีน (เช็งเม้ง) งานบุญ

4. ในห้องสมุด ควรจัดให้จองหนังสือออนไลน์ เดินไปรับแล้วออกไปอ่านเองในที่พัก หรืออ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์

5. เปลี่ยนระบบการทำธุรกิจ โดยใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ หรือออนไลน์เป็นหลัก หรือปรับเวลาการมาทำงานให้ยืดหยุ่น

6. หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งที่มีคนหนาแน่น หรือใกล้ชิดกัน เช่น รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ เรือสำราญ หรือเครื่องบิน เป็นต้น

7. ลดความหนาแน่นในลิฟต์ อาจมีการตีเส้นแบ่งในลิฟต์เพื่อให้ยืนห่างกัน หันหน้าออกจากกัน เลี่ยงการพูดคุยในลิฟต์ หรือเน้นการเดินขึ้นบันได โดยเฉพาะถ้ามีอากาศถ่ายเทได้ดีกว่า

8. ทำงานที่บ้านแทนที่จะทำที่ทำงาน (work from home) ทำให้ลดการเดินทางมาทำงาน และการพบปะคนอื่นในที่ทำงาน ซึ่งเพิ่มทั้งโอกาสการรับและแพร่กระจายของเชื้อ

9. การเยี่ยมญาติหรือติดต่อสื่อสารกันทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทาง LINE หรือ video call ต่าง ๆ แทนการไปพบปะกันโดยตรง

10. การยกเลิก หรือเลื่อนงานสัมมนา หรืองานประชุมขนาดใหญ่ไปเลย ซึ่งพบได้มากในช่วงนี้ เช่น การยกเลิกการสัมมนาวิชาการกลางปีของสมาคมโรคติดเชื้อ เป็นต้น

11. ทานอาหารจานเดียว หรือสำรับอาหารสำหรับคนเดียว แทนที่จะนั่งกินรวมกันเป็นกลุ่ม เพราะขณะที่เราอาจจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่ในสถานที่ชุมชน แต่เวลาทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ต้องมีการถอดออก เพื่อทานอาหารหรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมโต๊ะ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อโควิด-19 อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถซื้ออาหารมาทานที่โต๊ะทำงาน หรือที่พักของตนเอง แทนที่จะนั่งในศูนย์อาหาร ซึ่งมีความหนาแน่นกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ยังสามารถนั่งเว้นระยะห่างจากผู้อื่น เช่น นั่งเก้าอี้เว้นเก้าอี้ หรือจัดวางโต๊ะให้ห่างกัน

ทำสัญลักษณ์บอกว่า เก้าอี้ใดควรนั่ง ทุกคนหันหน้าทางเดียวกัน และทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมก่อนนั่งรับประทานอาหาร

ข่าวล่าสุด

bottom of page