top of page

คุณกำลังอ่าน

ระวังโรคท้องร่วง ในช่วงหน้าร้อน

สาระน่ารู้

ระวังโรคท้องร่วง ในช่วงหน้าร้อน

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันอังคารที่ 9 เมษายน 2562

อาการท้องร่วงที่มากับฤดูกาล หรือ ท้องเสียหน้าร้อน มักเป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เราจึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาให้ความรู้แก่ผู้อ่านถึงวิธีการรับมือและป้องกัน เมื่อเข้าสู่ฤดูของมันกันดีกว่า

│ สาเหตุและอาการของโรคท้องร่วง │

โรคท้องร่วงเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสโปรโตซัว ซึ่งทำให้เรามีอาการถ่ายเหลวเป็นมูกเลือดอาเจียน และมักมีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย หรือเรียกกันว่าอาหารเป็นพิษ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป อธิบายถึงสาเหตุกับอาการของโรคว่า

ถ้าอุจจาระร่วงหรือท้องร่วงในเชิงการแพทย์ จะตีความว่าถ่ายเหลว 3 ครั้ง หรือบางครั้งกึ่งเหลวและเป็นน้ำมากกว่า ปกติ 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำไหลโจ๊กครั้งเดียวก็ถือว่าท้องร่วงนี่คือนิยาม และมักจะเกี่ยวเนื่องกับอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการกินอาหารเข้าไปแล้วมีอาการ บางคนก็เร็ว ไม่กี่ชั่วโมง บางคนอาจนานประมาณ 24 ชั่วโมง อาการของอาหารเป็นพิษที่เด่น คือจะเกิดขึ้นที่ทางเดินอาหาร คือมีอาการอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลว

ที่ผ่านมาในบ้านเราปีหนึ่งพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษประมาณเดือนละ 10,000 ราย เนื่องจากการปรุงอาหารที่ทำให้เกิด อาหารเป็นพิษ ซึ่งบางครั้งจะเชื่อมโยงกับโรคอุจจาระร่วง เราจึงต้องดูสองโรคไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ ก็คือการถ่ายเป็นน้ำ เพราะทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เกิดอาการช็อก ชัก และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเชื้อโรคบางสายพันธุ์ที่ทำให้มีอาการรุนแรงจนอาจทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไตวาย

จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถหายได้เอง มีข้อมูลชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก ว่าการให้ดื่มผงเกลือแร่ละลายน้ำจะช่วย ลดอัตราการตายลง ส่วนในประเทศไทย จากการที่เรารณรงค์ให้ประชาชนดูแลตัวเองที่บ้านโดยการดื่มน้ำเกลือแร่อัตราการตายก็ลดลงเยอะ


│ ว่าด้วยเรื่องท้องร่วงหน้าร้อน │

แม้ว่าโรคท้องร่วงจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนว่าในฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่หลายคนป่วยเป็นโรคนี้กันมาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงสาเหตุของโรคท้องร่วงที่สัมพันธ์กับฤดูกาลว่า

ช่วงที่คนท้องเสียกันเยอะคือช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนบางคนก็เป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน รวมไปถึงอาหารเป็นพิษ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนจะมีภาวะเปียกแฉะ และร้อนชื้น และยังรวมถึงปัจจัยเรื่อง ความหนาแน่นของประชากร สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีด้วย

อากาศที่อุ่นขึ้นทำให้อาหารบูดเน่าเร็ว เชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อาหารเป็นพิษได้ อาหารบางอย่างโดยเฉพาะอาหารทะเลอย่างหอยเชลล์ ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิของท้องทะเลหรือโลกร้อนขึ้น ทำให้สาหร่ายในท้องทะเลเติบโตได้เร็วขึ้น แบคทีเรียก็เจริญเติบโตได้มาก ทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ง่าย

บริเวณที่มักเกิดโรคส่วนใหญ่จะอยู่ที่ค่ายอพยพทั้งหลาย เพราะเป็นชุมชนหนาแน่น สุขอนามัยไม่ดี และจังหวัดแถบชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช เพราะมีอาหารทะเลเป็นสาเหตุหลัก”

ส่วนโรคท้องร่วงในหน้าร้อนจะมีการพัฒนาของสายพันธุ์เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพรรณี อธิบายว่า

จริง ๆ มีรายงานถึงสายพันธุ์ใหม่ของเชื้ออหิวาต์ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเมื่อก่อน เราเชื่อว่ามีสายพันธุ์เดียวคือ โอ1แต่ เมื่อปี 2535 พบการระบาดในแถบประเทศอินเดียตอนใต้และบังคลาเทศ ตลอดจนพม่าและไทย โดยเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า โอ139 ซึ่งทำให้เกิดอหิวาตกโรคและท้องร่วงอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้จะอาการมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของ แต่ละคน


│ นานาวิธีรักษาและป้องกันท้องเสีย ท้องร่วง │

การรักษาดูแล เมื่อป่วยเป็นโรคท้องร่วงแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติมีดังนี้

· ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส (สูตรขององค์การเภสัชกรรม หรือองค์การอนามัยโลก) ให้จิบทีละนิด แต่บ่อยครั้งในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ1/4-1/2แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆ ป้อนทีละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้เด็กดูดจากขวดนม เพราะเด็กที่มีอาการขาดน้ำจะกระหายน้ำและดูดอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันจนทำให้อาเจียนและถ่ายมาก ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือนม ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้มน้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หากเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว โดยดื่มทีละน้อย แต่บ่อยครั้งเมื่ออาการดีขึ้นจึงหยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และกินอาหารอ่อนย่อยง่าย จะช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว
· หากมีอาการผิดปกติควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น ถ่ายหรืออาเจียนไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง หิวน้ำตลอดเวลา หรือปัสสาวะไม่ออก (แสดงว่าขาดน้ำมาก) หน้ามืด ช็อกหรือหมดสติ มีไข้ ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือเวลาถ่ายแล้ว ปวดเบ่งตลอดเวลา (อาการของบิด)
· ขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย เนื่องจากอหิวาตกโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อง่ายและแพร่ระบาดได้
· กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงในส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือน้ำยาซักผ้าขาวราดซ้ำ
· รักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย รวมทั้งซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยให้ สะอาด และนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
· ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและ เกิดการติดโรคได้


│ ข้อห้ามเมื่อท้องร่วง │

นายแพทย์โอภาสกล่าวถึงข้อห้ามเมื่อเกิดอาการท้องร่วง ดังนี้
· ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพราะบางทีท้องร่วงมีหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มียาฆ่าเชื้อ ดังนั้น การกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงไปก็ไม่หาย สิ้นเปลืองเงินและอาจทำให้เชื้อดื้อยา
· ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย การถ่ายเป็นกลไกของร่างกายในการขับเชื้อโรคและของเสียออกจากร่างกาย หากรับประทานยาหยุดถ่ายเข้าไปจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง จากเดิมที่ลำไส้เคยบิดตัวเพื่อไล่ของเสียออก ลำไส้ก็จะอยู่ นิ่ง ๆ ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต เข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น

│ การป้องกันท้องเสียหน้าร้อน │
· ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพรรณีอธิบายว่า การล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการแพร่เชื้อท้องเสียระหว่างคนต่อคนได้ ควรล้างด้วยสบู่เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
· ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆครั้ง หรือแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา
· แยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เพราะบางครั้ง เนื้อสัตว์หลายชนิดจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จึงควรแยกออกจากกัน (ถ้าจะให้ดีควรงดเนื้อสัตว์ไปเลยดีกว่าค่ะ) การเก็บในตู้เย็นก็ไม่ควรวางปนกัน อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท
· รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ที่สำคัญ การปรุงควรถูกต้องตามเกณฑ์ เช่น ถ้าจำเป็นต้องเก็บมารับประทานใหม่ ควรทำให้ร้อนจึงจะปลอดภัย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าน้ำเดือดปุดๆ แสดงว่าอุณหภูมิถึง 100 องศาเซลเซียสแล้ว
· การเลือกวัตถุดิบที่ถูกสุขลักษณะ ควรเลือกผักผลไม้ที่สดและสะอาด เสียเวลาในการเลือกนานขึ้น แต่สบายใจ เมื่อนำมารับประทาน
· ล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง เช่น เขียงกับมีดต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้งาน และควรใช้ช้อนกลาง ขณะที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
· เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี คือ 5 -60 องศา เซลเซียส ถ้าต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโตแต่ไม่ตาย เพราะฉะนั้นอาหารที่เราเก็บไว้ในตู้เย็น ควรอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง
· ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ต้องเดินทางนั่งรถนานๆ เพราะอาหารเหล่านั้นอาจบูดเน่าได้ง่าย
· ควรลวกหอยแครงอย่างน้อย 1-2 นาที การรับประทานหอยแครงให้อร่อยและปลอดภัย ควรนำไปลวกในน้ำเดือดตามเวลาดังกล่าว ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อโรคและคงรสชาติไว้ได้
· ควรต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำดื่มตามตู้กดน้ำ อาจไม่ได้มาตรฐานและมีการปนเปื้อน ของเชื้อโรค


ขอบคุณข้อมูลจาก
หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
คุณปิ่นนภ นรเศรษฐพันธุ์ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทความในคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 252
goodlifeupdate
สถานีโทรทัศน์ TNN24

ข่าวล่าสุด

bottom of page