คุณกำลังอ่าน
ระวังภัยเงียบอันตราย 'หลับใน' พลาดพลั้งอุบัติเหตุถึงชีวิต

สาระน่ารู้
ระวังภัยเงียบอันตราย 'หลับใน' พลาดพลั้งอุบัติเหตุถึงชีวิต
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี
วันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564
เกือบตลอดทั้งปี 2563 ประเทศไทยได้เจอวิกฤติหนัก ๆ มาแล้วมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเจ้าวิกฤติโควิด-19 ยังส่งผลต่อเนื่องกันข้ามปี 2564 เลยทีเดียว วันนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ได้นำบทความดี ๆ จากเดลินิวส์ และ สสส. มานำเสนอทุกท่าน และต้องขอให้กำลังใจทุกท่านสามารถฟันฝ่าวิกฤติและอุปสรรคทั้งหลายไปด้วยดี มีความสุขกับครอบครัวในรูปแบบ "ชีวิตวิถีใหม่" ที่ยังต้องปรับตัวให้ได้อีกสักระยะใหญ่
ในส่วนปัญหาอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลาย ๆ วัน ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ ทุกปีหน่วยงานภาครัฐก็พยายามระดมสรรพกำลังทุกรูปแบบเพื่อ "ปิดช่องโหว่" หวังลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียไม่ว่าจะตาย-เจ็บ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสเดินทางไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัวแบบมีความสุขทั้งไปและกลับ สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกนำมาหยิบยกอยู่ร่วมในการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุอีกเรื่อง "อาการหลับใน" บางครั้งแม้ผู้ขับขี่ จะอยู่ในอาการหลับใน ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างไม่คาดคิด
โดยจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า การหลับในมีส่วนเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถมาเป็น "อันดับที่ 4" รองลงมาจาก 1. เมาแล้วขับ 2. ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และ 3. ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ภาวะง่วงนอนขณะขับรถ หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การหลับใน จึงนับเป็นอีกเรื่องอันตรายแบบไม่คาดคิด เพราะการอดนอนอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกันกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนประมวลผล ทำให้การตัดสินใจและการตอบสนองช้าลง จากข้อมูล พบว่าในประเทศไทยผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยประสบปัญหาง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ
การหลับในสามารถคร่าชีวิต ได้ในเวลาเพียง 4 วินาที ถ้าหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตรโดย ที่ไม่มีการควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมากเพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที
● อย่ามองข้ามสัญญาณเตือน "หลับใน"
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การหลับใน คือ การหลับในระยะเวลาสั้น ๆ หรือวูบเพียงชั่วครู่ เป็นภาวะที่ร่างกายมีการทำงานลดลง หรือช้าลง อาการพวกนี้จะน่าห่วงในขณะช่วงวิกฤติ อาทิ ขับรถ ทำงานโรงงานหรืออยู่ระหว่างกำลังใช้เครื่องไม้เครื่องมือ สาเหตุของการหลับในนั้น คือ ส่วนใหญ่มาจากพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานเป็นกะหรืออาจจะต้องมีการควงเวร คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะน่าห่วง ในพวกคนทำงานกลางคืนและสถานบันเทิงต่าง ๆ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคนอนหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ก็อาจจะเป็นสาเหตุของการหลับในได้ และคนที่รับประทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ เป็นต้น
สัญญาณเตือนการหลับใน ได้แก่ สัญญาณทางร่างกาย เมื่อ ร่างกายกำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับใน ร่างกายอาจเกิดอาการ หาวบ่อย กะพริบตาช้า ๆ หรือกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้ตื่น เห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน ร่างกายกระตุก หรือลืมตาไม่ขึ้น ต่อมาคือสัญญาณทางความคิด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้แน่ใจว่าร่างกายกำลังจะหลับใน ซึ่งสังเกตได้จากความคิดของสมอง เช่น ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์เมื่อไม่กี่นาทีก่อนได้ไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือสิ่งที่ทำได้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลง และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า เป็นต้น และสัญญาณจากพฤติกรรมการขับรถ หาวบ่อยและกะพริบตาถี่ ๆ ต่อเนื่อง มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง ความจำหายจำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 1-2 กิโลเมตรที่ผ่านมา หรือการฝันระยะสั้น ๆ โดยหากมีอาการ เหล่านี้หรือความรู้สึกง่วง ไม่ควรฝืนขับรถหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้
● แนะแนวทางป้องกันการหลับใน
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันการหลับในที่ดีที่สุดได้แก่ การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง อย่างน้อยก่อนวันเดินทาง ทานอาหารแต่พอดี อย่ากินอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย ควรงดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยเฉพาะช่วงบ่ายของวันก่อนเดินทางเพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้นหรือหลับไม่สนิท
ที่สำคัญในวันเดินทางเมื่อรู้สึก เมื่อยล้าควรจอดรถพักหรือนอนหลับใน จุดที่ปลอดภัย อาจดื่มกาแฟร้อน หรือรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวเพื่อช่วยกระตุ้นประสาท แต่วิธีนี้จะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น และหากรู้ตัวว่าร่างกายไม่พร้อมไม่ควรเดินทางคนเดียว ควรหาคนนั่งไปเป็นเพื่อนหรือสลับกันขับรถด้วย
อย่างไรก็ตามสถิติอุบัติเหตุของกระทรวงคมนาคม ถึงแม้สาเหตุมาจากอาการหลับใน จะมีเพียงประมาณร้อยละ 5 ของทั้งหมด จากอุบัติเหตุที่เกิด แต่การหลับในไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อผู้หลับในโดยตรงเท่านั้น แต่ยังทำให้ ผู้โดยสาร หรือ ผู้ที่นั่งอยู่ในรถ และ คู่กรณี ที่ประสบอุบัติเหตุจากสาเหตุหลับใน อาจจะต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บไปด้วย.
● 10 วิธี ช่วยให้นอนมีประสิทธิภาพ
เพื่อการนอนที่ถูกหลักอนามัย (Good Sleep Hygiene) ประกอบด้วย
1. ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด
2. ไม่ควรงีบในเวลากลางวัน ถ้านอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที และไม่ควรงีบหลังบ่าย 15.00 น.
3. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน
4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนัก รสจัด เผ็ด หรืออาหารหวานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
5. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
6. เตียงนอนควรเป็นเตียงที่นอนแล้วสบาย มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอด เข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง
7. ควรผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ไม่ควรดูภาพยนตร์ตื่นเต้น สยองขวัญก่อนนอน
8. ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้ห้องนอนและเตียงนอนเป็นที่ทำงาน เล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์
9. หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอนทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ แล้ว กลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง
และ 10. รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จะช่วยให้หลับได้ดี มีความตื่นตัวในเวลากลางวันทำงานได้ดีขึ้น และสุขภาพทางกาย-ใจดีขึ้น
ขอขอบคุณ
เดลินิวส์
สสส.