top of page

คุณกำลังอ่าน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคระบาด 'โควิด-19'

รู้ทันป้องกันโควิด-19

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคระบาด 'โควิด-19'

องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' เป็นวิกฤตด้านสุขภาพที่สร้างความกังวลให้คนทั่วโลก เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันตัวเองและรับมือ

● อาการของโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง ?

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ว่า อาการของโรคประกอบไปด้วย การมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการไอลักษณะแห้งๆ หายใจไม่สะดวก หายใจถี่ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ไปจนถึงอาการที่หนักขึ้น อย่างเช่น อาการปอดบวม อาการทางเดินหายใจผิดปกติเฉียบพลัน อาการไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิด

วารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่รายงานของแพทย์ผู้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายนี้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อหลังเดินทางกลับจากอู่ฮั่นเมื่อเดือนมกราคม โดยในรายงานระบุถึงอาการและวิธีการรักษาของโรคโควิด-19 ไว้ดังนี้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ชายคนนี้มาหาหมอด้วยอาการไข้เพียง 37.2 องศาเซลเซียส มีอาการไอ โดยหลังจากตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และไม่พบความผิดปกติของปอด แพทย์จึงให้ผู้ติดเชื้อกลับไปสังเกตอาการตัวเองที่บ้าน จนกระทั่งผลตรวจจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ชายคนดังกล่าวมีเชื้อโควิด-19

ตลอดการรักษาพบว่าชายคนนี้มีอาการไอแห้ง และเมื่อเข้าวันที่ 2 ของการรักษา (21 ม.ค.) ก็มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่มีการหายใจติดขัดหรือเจ็บหน้าอกแต่อย่างใด แต่พบว่าผู้ป่วยมีเยื่อเมือกแห้ง

ขณะที่ผลจากแล็บในวันที่ 3 และ 5 พบว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวและภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างอ่อน และค่าการทำงานของตับมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ฟิล์ม x-ray ปอดในวันที่ 5 พบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการปอดอักเสบ และพบว่าค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดอยู่ในระดับต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหายใจเอง

ในวันที่ 6 ของการรักษาตัว แพทย์ได้ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และฟิล์ม x-ray ปรากฏให้เห็นร่องรอยของโรคปอดอักเสบที่ชัดขึ้นทั่วปอด แพทย์จึงเริ่มรักษาด้วยการให้ยาตามอาการต่างๆ รวมไปถึงยาต้านไวรัส จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 7 พบว่าผู้ป่วยยังไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ

จนกระทั่งวันที่ 8 (29 ม.ค.) อาการของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มหายใจได้เอง ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดกลับมาอยู่ 94-96 เปอร์เซ็นต์ ร่องรอยของโรคปอดอักเสบในปอดล่างก็ไม่ปรากฏให้เห็น เหลือแต่เพียงอาการไอแห้งและมีน้ำมูกเท่านั้น

จากรายงานข้างต้นเห็นได้ชัดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมุ่งทำลายปอดเป็นสำคัญ ขณะที่ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ


● ใครต้องตรวจโควิด-19 บ้าง ?

ข้อมูลของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 63 ระบุว่าผู้ที่จะต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 ต้องเป็น “ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์” คือ มีอาการและประวัติเสี่ยง ได้แก่ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง และมีประวัติเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ อย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่

- เดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงที่มีรายงานการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019
- ประกอบอาชีพสัมผัสกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันติดเชื้อโควิด-19
- บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ อีกประเภทที่เข้าเกณฑ์คือผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
- มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโควิด-19
- เป็นบุคลากรทางการแพทย์
- เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้


● ตรวจโควิด-19 ได้ที่ไหนและใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ?

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ ในกรณีของประเทศไทย สามารถไปตรวจตามโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือประกันสังคมได้ฟรี และหากพบว่าติดเชื้อก็จะรักษาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ แต่กังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อและต้องการตรวจโดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งก็มีคำแนะนำว่าในกรณีลักษณะนี้ให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วันก่อนเพื่อสังเกตอาการ รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงของตัวเองที่อาจมีโอกาสรับเชื้อโรคเมื่อต้องเข้าไปในตามสถานพยาบาลต่างๆ

สำหรับผู้ที่เข้านิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แพทย์ก็จะสัมภาษณ์และเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ส่วนระยะเวลาในการทราบผลเท่าที่ปรากฏข้อมูลในไทยตอนนี้ มีรายงานตั้งแต่ภายใน 5-8 ชั่วโมง ไปจนถึง 12 ชั่วโมง ในบางรายอาจมีการเอ็กซ์เรย์ปอดร่วมด้วย โดยระหว่างรอผลตรวจว่าจะออกมาเป็นบวกหรือลบ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์จะถูกแยกไปที่ห้องแยกโรค หรือห้องความดันลบในโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่เชื้อ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 63 ระบุว่ามีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) 44 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกระทรวงสาธารสุข ซึ่งสามารถรับตัวอย่างที่โรงพยาบาลเก็บจากคนไข้มาตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง และห้องปฏิบัติการเครือข่ายอีก 29 แห่ง


● โควิด-19 รุนแรงแค่ไหน ?

นับตั้งแต่มีรายงานการระบาดในจีนครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นจำนวนนับแสนคน องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ โดยจนถึงวันที่ 3 มี.ค.63 องค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.4 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วมีแนวโน้มสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเสียชีวิตจากโควิด-19

อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ยังถือว่าน้อยกว่าโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS ) ที่ระบาดเมื่อปี 2545 และเกิดจากตระกูลไวรัสโคโรนาเช่นกัน โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์สนั้นสูงถึงเกือบร้อยละ 10 จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 ราย ในช่วงเวลาการระบาด ขณะที่โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งระบาดเมื่องปี 2555 และเป็นการติดเชื้อจากไวรัสกลุ่มโคโรนาเช่นเดียวกัน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 34.4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2,400 ราย

แม้ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแซงหน้าโรคซาร์สและเมอร์สไปไกล รวมถึงยังพบผู้ติดเชื้อในอย่างน้อย 160 ประเทศ แต่โอกาสหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็มีอยู่สูงมากเช่นกัน ข้อมูลกรมควบคุมโรคชี้ว่า โรคนี้หายได้เองในผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อที่หายแล้วจะเป็นอีกได้หรือไม่นั้น ข้อมูลระบุว่าส่วนใหญ่หากติดเชื้อแล้วโดยทั่วไปเราจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ระยะหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมากแล้วผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือไม่


● ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ ?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในจีนมีการใช้ยา Favilavir รักษาโควิด-19 รวมถึงมีรายงานการใช้ยาหลายขนาน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไข้มาลาเรีย เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการรักษาที่เชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยก็กำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้อยู่ ซึ่งถือเป็นข่าวดีเมื่อสื่ออังกฤษอย่าง The Guardian รายงานว่าความพยายามในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาโควิด-19 ดูจะเดินหน้าไปได้เร็วเมื่อเทียบกับการระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของโรคอื่นๆ เช่น ไวรัสอีโบลา โดยมีบริษัทและสถาบันวิจัยประมาณ 35 แห่งทั่วโลกที่กำลังแข่งกันพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และมีอย่างน้อย4 ทีม ที่ได้วัคซีนทำการทดลองในสัตว์แล้ว และกำลังเตรียมการทดลองขนาดเล็กในคน

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 63 สำนักข่าวเอพีรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าได้มีการเริ่มทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยในเมืองซีแอตเทิล โดยวัคซีนดังกล่าวผลิตโดยบริษัท Moderna Inc. ในรัฐแมสซาชูเซตส์ และมีสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ การทดลองนี้จะให้อาสาสมัครหนุ่มสาวสุขภาพดีกลุ่มแรกจำนวน 45 คน รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยยืนยันว่าผู้เข้าร่วมการทดลองไม่มีโอกาสติดเชื้อ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนประกอบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ เป้าหมายคือเพื่อทดสอบว่าวัคซีนไม่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวล และจะทำการขยายการทดสอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 12-18 เดือน จึงจะสามารถยืนยันได้เต็มที่ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน


● เบอร์ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืออะไรบ้าง ?

สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 1111
สายด่วนปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 1378

ข่าวล่าสุด