โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ

หลักการของโครงการ CoST
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้นำเอาแนวคิด ‘โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือ CoST (Infrastructure Transparency Initiative) มาใช้ ซึ่งเป็นเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใส ในงานก่อสร้างภาครัฐ ที่หลายประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติสำหรับดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน (Infrastructure Project) ของประเทศ
หัวใจของโครงการ CoST เป็นการมุ่งสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของหน่วยงานรัฐ ด้วยการวางระบบให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลโครงการแก่สาธารณชนตลอดระยะเวลาดำเนินงาน และมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องทางเทคนิคและมาตรฐานการก่อสร้าง โดยคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม หรือ MSG (Multi-Stakeholder Group) ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับดูแลการงานและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายกับผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องได้ ในกรณีพบสิ่งผิดปกติในโครงการก่อสร้าง
กลไกการทำงานของ CoST จะทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ
ภาครัฐ: กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
ภาคเอกชน: คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล Assurance Team
ภาคประชาชน: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และองค์กรเอกชนอื่นๆ
ขณะเดียวกันเพื่อให้โครงการโปร่งใส และมีการตรวจสอบการดำเนินอย่างเข้มข้น คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบ CoST เนื่องจากมีหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโครงการ CoST โดยจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ถึงความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผย และประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงตามที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนใจ อย่างเช่น การแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ การตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชน นอกจากนั้นยังมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆ พร้อมจัดเวทีภาคประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนั้นก็จะรายงานต่อคณะกรรมการ MSG และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ในกรณีที่คณะทำงานตรวจสอบข้อมูลตรวจพบความไม่ถูกต้อง ความไม่ครบถ้วนของข้อมูลที่เปิดเผย หรือตรวจพบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต หรืออาจนำไปสู่การทุจริต ก็สามารถดำเนินการรายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบได้ทันท่วงที