
อรรถพล เมืองมิ่ง. (2560). การจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารที่ผิดพลาด จากรัฐประหารปี 2549 สู่รัฐประหารปี 2557 : บทเรียนสู่สังคมไทยเพื่อการปฏิรูปกองทัพ. วารสารรัฐศาสตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560) หน้า 83-115
ปัจจัยและเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารที่ส่งผลต่อการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพในการรัฐประหาร ปี 2557
ปัจจัยแวดล้อมภายในกองทัพ
1) ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของกองทัพ ด้วยกองทัพไทยเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความเป็นเอกภาพสูง มีความเป็นอิสระแตกต่างจากองค์กรอื่น และดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานเปรียบเสมือนสถาบันที่ 4 ตามหลักของการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้การดำเนินการใด ๆ ของกองทัพยอมเป็นอิสระและยากต่อการตรวจสอบ ที่ผ่านมากองทัพได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยจนถูกตั้งคำถาม รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะความไม่เป็นกลางทางการเมือง และการเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่นั่นก็มิได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากการกระทำดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางกลุ่ม รวมถึงผู้มีอำนาจในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนกับกองทัพมากที่สุดกลับเป็นสิ่งที่เกิดจากข้อผิดพลาดจากกองทัพเอง โดยเฉพาะปัญหาความอื้อฉาว การทุจริตคอร์รัปชันภายในกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพมักใช้ข้ออ้างปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลพลเรือนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น เมื่อปรากฏภาพการทุจริตในกองทัพ จึงทำให้ภาพลักษณ์การต่อต้านทุจริตของกองทัพเป็นผลลบในสายตาประชาชน อย่างเช่น กรณีการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของกองทัพ ซึ่งเดิมกองทัพอากาศ ได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ในการตรวจการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จะจัดซื้อเพิ่มในปี 2550-2552 ทำให้ระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานของรัฐไทย 15 หน่วยงาน ซื้อ GT200 หรือ Alpha 6 มาใช้รวมกันถึง 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาตั้งแต่เครื่องละ 4.26 แสนบาท-1.38 ล้านบาท จนในช่วงปลายปี 2552 สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 หลังเหตุระเบิดที่จังหวัดนราธิวาส และยะลา จึงทำให้เกิดการตรวจสอบขึ้นทั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธ์ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลปรากฏว่า รัฐบาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการจัดซื้อโดยทันที แต่ในทางกลับกันผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นกลับแถลงยืนยันความเชื่อมั่นว่าใช้ได้จริง (ไทยพับลิก้า, 29 มิถุนายน 2558) และปัญหาอื้อฉาวเรื่องที่สองของกองทัพ คือ กรณีการจัดซื้อเรือเหาะเรือเหาะตรวจการณ์ ในราคา 350 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตที่ทั้งเรื่องราคาที่จัดซื้อแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบชนิดที่ใกล้เคียงกันที่มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนั้น ยังถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวสินค้าว่าอาจเป็นสินค้ามือสอง เพราะสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน รวมถึงการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในแง่ยุทธการและความคุ้มค่าที่จะนำมาใช้จริง ขณะเดียวกันกลับปรากฏข่าวที่เป็นเรื่องอื้อฉาวของกองทัพว่ากองทัพบกออกคำสั่งแบบเงียบ ๆ ให้จำหน่ายเรือเหาะลำดังกล่าวหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมได้ ทำให้เรือเหาะลำนี้ไม่ถูกใช้บินตรวจการณ์ได้แม้แต่ครั้งเดียว 2) ความรู้สึกจากการถูกดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศักดิ์ศรี ตลอดช่วงระยะเวลาของการชุมนุมทางการเมืองในปี 2556-2557 จะปรากฏภาพของผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์และตอบโต้ผ่านสื่อในประเด็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการตอบโต้กับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ปราศรัยพาดพิงหรือแสดงความเห็นในเชิงตำหนิทหารและกองทัพ ซึ่งหากมองแบบผิวเผินแล้วการตอบโต้ไปมาระหว่างผู้นำทหารและแกนนำผู้ชุมนุมที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อเกิดการพาดพิงก็จำเป็นต้องมีการชี้แจง แต่หากพิจารณาประวัติศาสตร์ทางการเมืองแล้วก็จะพบว่า ก็แสดงออกถึงความไม่พอใจของผู้นำทหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสิ่งเร้าทำให้ทหารตัดสินใจเข้าแทรกแซงทางการเมือง เนื่องจากความต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีและเกียรติศักดิ์ของทหารหลังจากต้องตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายการเมือง ดังเช่น การออกมาเตือนของ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ก่อนวันรัฐประหารเพียง 1 สัปดาห์ ว่า “ขอเตือนผู้กล่าวให้ร้ายกองทัพ ให้ระมัดระวังคำพูด ซึ่งถือว่าเป็นการหมิ่นเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของกองทัพ ทหารทุกคนไม่สามารถยอมรับได้” เป็นต้น
ปัจจัยแวดล้อมภายนอกกองทัพ
1) รัฐบาลพลเรือนขาดเสถียรภาพไม่สามารถบริหารประเทศได้จากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง หลังการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา ได้เกิดกลุ่มทางการเมืองที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างมากมายจนก่อร่างเป็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยจนมาถึงปัจจุบัน โดยในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับข้อครหาว่าเป็นนอมินีหรือเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท. ทักษิณ หรือระบอบทักษิณ ซึ่งเคยถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2549 การชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย ก่อนที่จะสลายตัวแยกออกมาเป็นกลุ่มใหม่ หลังรัฐบาลบริหารประเทศได้นาน รัฐบาลต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจากการชุมนุมต่อต้านและคัดค้านรัฐบาล เช่น การชุมนุมของกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามสามัคคี เป็นต้น แต่ก็ไม่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน กระทั่งในปลายปี 2556 มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองฯ หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จนส่งผลให้เกิดการคัดค้านจากนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนจำนวนมาก ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำหลัก เพื่อขับไล่รัฐบาลจนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภา นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ได้มีการชุมนุมคู่ขนานของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสนาม ราชมังคลากีฬาสถานซึ่งถือว่าไม่ห่างจากพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. มากนัก จนส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังจากการประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สถานการณ์ทางการเมืองกลับไม่มีทีท่าว่าจะยุติแต่ได้เข้าสู่ขั้นรุนแรงมากขึ้น มีการปิดคูหาเลือกตั้งทั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้าและวันเลือกตั้งทั่วไป จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้การเลือกตั้งดังกล่าวตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้ยังมีเดินขบวนปิดสถานที่ราชการ องค์กรสื่อ และมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง มีการทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือที่รุนแรงกว่านั้นคือการใช้อาวุธสงครามของผู้ชุมนุม จากเหตุความขัดแย้งอย่างรุนแรงตั้งแต่ปลายปี 2556-2557 นี้ ได้ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยมิน้อย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชนก็กลายเป็นการขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลในทันที ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งส่งผลเสียต่อรัฐบาลพลเรือนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพในการเป็นผู้รักษาความสงบในประเทศ ท้ายที่สุด กองทัพก็อาศัยสถานการณ์ดังกล่าวนี้สร้างภาพลักษณ์ถึงความเป็นกลางทางการเมืองและเสนอตัวเข้ามาสร้างความปรองดอง จนต้องจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 2) ปัญหาความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลพลเรือนที่อาจส่อไปในทางทุจริตหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดระยะเวลาการบริหารงานภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมากเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ผิดพลาดและอาจส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชันหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ข้อกล่าวหาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งส่งผลให้รัฐต้องขาดทุนและสูญเสียเงินอย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นการเอื้อผลประโยชน์แก้พวกพ้อง นอกจากนี้ชาวนาบางส่วนยังได้รับความเดือดร้อนจากการขายข้าวให้รัฐบาลแต่ไม่ได้รับเงินมาเป็นเวลานาน การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจนเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยในปี 2554 การจ่ายเงินชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีอำนาจจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตอบแทนกลุ่มคนเสื้อแดง การออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้าย และคดีอื่น ๆ ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ้นตำแหน่ง จนเป็นเหตุทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น 3) ความเป็นเผด็จการโดยรัฐสภา คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงรัฐบาลพลเรือนมากที่สุดและยังเป็นหนึ่งในคำสำคัญที่ถูกใช้ในทางการเมืองกรณีรัฐบาลใช้อำนาจทั้งทางฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือประชาชน ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ แม้จะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง แต่ต้องตกอยู่ในข้อกล่าวว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาเช่นเดียวกับรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งข้อกล่าวหาเช่นนี้เกิดจากการที่รัฐบาลใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยง่าย อีกทั้งรัฐบาลยังตั้งข้อครหาว่าออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ในทางการเมือง โดยที่พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะคะแนนเสียงในสภาได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาก็ตาม เช่น ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ จนทำให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมรัฐสภา ความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างในวาระที่ 2 และ วาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านลุกขึ้นทักท้วง โดยเห็นว่าเป็นการเร่งรัดลงมติ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวยังถูกกล่าวหาว่าเป็น พ.ร.บ. ลักหลับ เนื่องจากมีการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องยาวนานถึง 19 ชั่วโมง รวมถึงเป็นการพิจารณาในกลางดึก จนทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ท้ายที่สุด การออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ก็เป็นจุดพลิกผันทางการเมืองสำคัญจนทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภา และมีการรัฐประหารในเวลาต่อมา 4) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับผลกระทบเทือน สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันที่มีความสำคัญและอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และยังเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพ ยกย่องและเทิดทูลจากประชาชนคนไทยมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีฟื้นฟูสถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีฐานะดั่งเสาหลักที่ค้ำจุนความเป็นชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้กลับมาสูงเด่นจนสามารถกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของการเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเปรียบดั่งสถาบันที่สูงกว่าสถาบันอื่น ๆ จึงไม่สามารถถูกละเมิดได้ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับได้บัญญัติไว้ และเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับผลกระทบกระเทือน ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ การกล่าวหาใส่ร้าย การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือแม้กระทั่งเพียงการตั้งคำถาม ก็มักจะเป็นเหตุจูงใจหรือสร้างความชอบธรรมให้ทหารซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงสามารถดำรงบทบาทในทางการเมืองด้วยเหตุผลการพิทักษ์รักษาและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ ดังจะเห็นจากในอดีตที่การรัฐประหารแต่ตั้งปี 2490 เป็นต้นมามักอ้างอิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน นับตั้งแต่การมีรัฐบาลพลเรือนหลังการรัฐประหารในปี 2549 ได้เกิดกลุ่มทางการเมืองหลายกลุ่ม ซึ่งนอกจากการต่อสู้ในทางการเมืองเพื่อหวังผลในการเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีการต่อสู้ในอุดมการณ์ทางความคิดทั้งแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกและกลุ่มที่มีลักษณะของความเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งในบางครั้งมีการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำให้เป็นสาธารณะมากขึ้น มีการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านเวทีทางวิชาการ การตีพิมพ์บทความ และสื่อโทรทัศน์จนสร้างความตื่นตัวในสังคมไทยอย่างมาก ซึ่งมีทั้งการกระแสของการสนับสนุนและกลุ่มที่ไม่พอใจในการกระทำดังกล่าวโดยเฉพาะกองทัพ เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์สื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลุ่มนิติราษฎร์ยุติการเคลื่อนไหวในการแก้ไขมาตรา 112 การแสดงความไม่พอใจกรณีรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทางสถานีโทรทัศน์ทยพีบีเอส ที่มีผู้ร่วมรายการมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการทิ้งท้ายของประกาศยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 ว่า “...จะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูล ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยและทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง” (ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557, 2557) เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องเผชิญข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีอยู่บ่อยครั้ง มิหนำซ้ำยังเพิกเฉยต่อการจัดการกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ 5) การเปิดโอกาสหรือนำทหารเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองหรือการชุมนุมประท้วงของประชาชนในแต่ละครั้ง รัฐบาลมักจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รักษาความสงบของการชุมนุม แต่บ่อยครั้งรัฐบาลหลายรัฐบาลกลับพยายามนำทหารเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองให้กลายเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา ปรากฏภาพชัดเจนในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 หรือแม้กระทั่งในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้ให้อำนาจทหารในการรักษาความสงบรอบพื้นที่การชุมนุม นอกจากนี้ สื่อสารมวลชนยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทหารมีบทบาทในทางการเมืองเห็นได้จากการให้ความสำคัญกับผู้นำเหล่าทัพในการสัมภาษณ์หรือขอความเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น ดังนั้น การเปิดโอกาสหรือนำทหารเข้ามาในพื้นที่การเมืองเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ความเป็นทหารอาชีพลดลงและกลายเป็นทหารการเมืองมากขึ้น อันจะส่ง ผลเสียต่อความมั่นคงของการบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต 6) การได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมืองในการคัดค้านนโยบายของรัฐบาลหรือการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในแต่ละครั้งหากถึงขั้นจุดแตกหักมักจะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มในการพยายามดึงสถาบันทหารหรือกองทัพเข้ามาเคลื่อนไหวร่วมกับผู้ชุมนุม เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพถือว่าเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง มีความเป็นอิสระกว่าองค์กรอื่น ๆ ในสังคม นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรบุคคล อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สามารถเป็นกำลังสนับสนุนในการโค่นล้มรัฐบาลได้โดยง่าย ดังจะเห็นได้จากหลังการรัฐประหารในปี 2549 ที่ประชาชนบางส่วนออกมาแสดงความยินดีและดีใจที่กองทัพทำรัฐประหาร พร้อมถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถัง หรือแม้กระทั่งในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากนายทหารในราชการ (ศิวัช ศรีโภคางกุล, 2559) และยังเรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองหรือยึดอำนาจรัฐบาล การพยายามใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเปิดทางให้คนนอกสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ นอกจากนี้ ยังปรากฏความร่วมมือของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกับผู้นำกองทัพในการเตรียมการยึดอำนาจด้วย โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. ได้เปิดเผยหลังการรัฐประหารในปี 2557 ว่า “ก่อนกฎอัยการศึกจะประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์บอกผมว่า คุณสุเทพและมวลชนผู้สนับสนุน กปปส. เหนื่อยมามากพอแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะรับช่วงทำหน้าที่ต่อ” นอกจากนี้ ยังกล่าวต่อว่า “ทาง กปปส.ได้หารือกับ พล.อ. ประยุทธ ตั้งแต่ปี 2553 แล้วว่า ถอดรื้อระบอบทักษิณ ปฏิรูปประเทศ ต่อต้านการคอร์รัปชันและสลายขั้วความขัดแย้งระหว่างสีได้อย่างไร” ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการที่จะโค่นล้มรัฐบาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้น หลังการรัฐประหาร ผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยได้แสดงออกถึงความยินดีไม่ต่างจากการรัฐประหารในปี 2549 7) การขยายของชนชั้นกลางใหม่ ตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษก่อนการรัฐประหารในปี 2557 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมาก โดยเฉพาะความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้เกิดกลุ่มทุนใหม่ขึ้นในสังคมและขยายอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างจังหวัดจนเกิดการเลื่อนฐานะหรือเคลื่อนย้ายอำนาจของชนชั้นกลางใหม่ เข้ามาแทนที่ชนชั้นกลางเดิม จนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเกิดขึ้น ซึ่งความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมาจากความเห็นต่อการวาดฝันอนาคตทางการเมืองที่แตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างชนชั้นกลางเก่าและชนชั้นกลางใหม่ที่ฝ่ายหนึ่งอยากจะเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยคำนึงถึงเสียงประชาชนเป็นหลักและไร้กระบวนการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ รวมถึงการสร้างสังคมให้มีความเสมอภาคกัน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการเห็นอนาคตของประเทศที่ปราศจากการ คอร์รัปชัน รัฐบาลจะต้องเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ ส่วนการสร้างสังคมให้มีความเสมอภาคจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือจำเป็นโดยเฉพาะในทางการเมือง นอกจากนี้ ชนชั้นกลางเก่าพยายามที่จะต่อสู้กับชนชั้นกลางใหม่ (ชนชั้นกลางระดับล่าง) ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดเสรีนิยมที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น แม้พวกเขาจะเคยอยู่ฝั่งประชาธิปไตยมาก่อน แต่ก็ค่อยๆ แยกตัวออกไปและไปพึ่งพิงและสนับสนุนทหารแทน
บทสรุปและอภิปรายผล
นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา พบว่า ทหารได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด จากการวางรากฐานผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่กองทัพ แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและมีคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่ง แต่การกระบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารตามระบอบประชาธิปไตยก็ไม่เป็นอย่างราบรื่นนัก ด้วยข้อติดขัดทางด้านกฎหมายและความเกรงใจต่อกองทัพ มิหนำซ้ำรัฐบาลพลเรือนมีลักษณะของความพยายามในการประนีประนอมกับกองทัพ โดยหลีกเลี่ยงหรือเพิกเฉยต่อปฏิรูปกองทัพหรือการแตะต้องผลประโยชน์ของกองทัพ ก็ทำให้กองทัพดำรงอยู่ในการเมืองต่อไป นอกจากนี้ การที่รัฐบาลพลเรือนเปิดโอกาสและนำทหารเข้ามาสู่ในพื้นที่การเมืองยังส่งผลให้ทหารกลายเป็นทหารการเมืองมากกว่าทหารอาชีพ หากพิจารณาถึงปัจจัยและเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารแล้ว ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกกองทัพทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีท่าทีประนีประนอมกับกองทัพ การไม่เข้าไปก้าวก่ายผลประโยชน์ของกองทัพโดยตรงทำให้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงจึงไปอยู่ที่สถานะของรัฐบาลพลเรือนและปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น ความชอบธรรมของรัฐบาล การมีเสถียรภาพ สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับผลกระทบกระเทือน รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการแทรกแซงทางการเมืองก็เป็นสิ่งเร้าและเป็นสิ่งรองรับกับผลการกระทำที่เกิดขึ้นและไม่เป็นผลเสียต่อกองทัพ ทำให้กองทัพตัดสินใจเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับ Forster ที่มองว่า เมื่อใดที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถในการบริหารประเทศได้อย่างปกติหรือมีความละเลยหรือเพิกเฉยในการที่จะควบคุมทหารแล้วก็เท่ากับว่ารัฐบาลยอมรับกับการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ระบอบอำนาจนิยมก่อตัวขึ้นหรือหวนกลับคืนมาอีกครั้ง ดังนั้น การที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารมีเสถียรภาพอยู่อย่างมั่นคง หนึ่งในหลักการสำคัญคือฝ่ายพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือฝ่ายทหาร และทหารต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน หากเมื่อใดที่ทหารมีอำนาจมากกว่าพลเรือนแล้วย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร ทั้งยังกระทบต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น หากฝ่ายพลเรือนละเลยหรือเพิกเฉยต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร รวมถึงการให้อำนาจแก่ทหารหรือสถาบันทหารมากเกินไป โอกาสที่ทหารและกองทัพจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจ กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อกองทัพ หรือการข่มขู่ คุกคามฝ่ายพลเรือนย่อมมีสูง ซึ่งทหารจะกลายเป็นอุปสรรคในการขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยไปในทันที อันตรายไปยิ่งกว่านั้น หากพลเรือนให้อำนาจทหารอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ย่อมจะนำมาซึ่งการใช้กำลังที่รุนแรง การยึดอำนาจ หรือรัฐประหารรัฐบาลพลเรือน และการสถาปนาอำนาจระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร จนกลายเป็นวัฏจักรที่วนเวียนอย่างไม่สิ้นสุด
ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในระบอบประชาธิปไตย
จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารหลังการรัฐประหารปี 2549 ในข้างต้น แม้จะพบว่าในปี 2557 ทหารจะควบคุมอำนาจทางการเมืองเหนือพลเรือนเอาไว้ แต่ผู้เขียนจะขอเสนอแนะแนวทางเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนในอนาคตได้มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารให้เกิดดุลยภาพในระบอบประชาธิปไตยและป้องกันการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเข้าแทรกแซงทางการเมืองในอนาคตซึ่งข้อเสนอแนะบางส่วนนี้ได้หยิบยกมาจาก ศิวัช ศรีโภคางกุล (2559) ดังนี้ 1) การปฏิรูปสถาบันทหารหรือกองทัพ ถือเป็นคุณูปการสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสร้างความปรองดองได้อย่างราบรื่น เนื่องจากกองทัพไทยดำรงอยู่ในอำนาจทางการเมืองอย่างยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติ และทำให้ทหารกลายเป็นทหารการเมืองมากกว่าทหารอาชีพ ดังนั้น หากละเลยที่จะการปฏิรูปกองทัพแล้ว โอกาสที่กองทัพจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเมื่อทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองแล้ว โอกาสที่จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มีสูงเช่นเดียวกัน สำหรับประเด็นที่ผู้วิจัยจะเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ การสร้างความเป็นวิชาชีพของทหาร การสร้างนิยามใหม่ให้แก่บทบาทของกองทัพและปรับโครงสร้างกองทัพให้เป็นสถาบันที่มีบทบาททางการเมืองน้อยลง และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน การปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจ การสร้างวินัยให้แก่ทหารทุกระดับและกำหนดความรับผิดรับชอบที่ทหารมีต่อปฏิบัติการของตน การส่งเสริมการฝึกอบรมให้ทหารมีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองน้อยลง และทำให้ทหารหันมาสนใจไปที่ความเป็นอาชีพและกิจกรรมทางทหารมากขึ้น รวมไปถึงการปรับลดงบประมาณของกองทัพและการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารในช่วงที่ไม่มีภาวะสงคราม และการปรับลดกำลังพลและขนาดกองทัพให้เล็กลง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนี้จะต้องเปิดโอกาสให้กองทัพซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การปฏิรูปกองทัพด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลพลเรือนจะต้องนำทหารออกจากพื้นที่ทางการเมือง โดยไม่ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลหากเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น แต่ควรใช้กำลังตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลักแทน หากทำได้เช่นนี้จะไม่เพียงแต่เป็นคุณูปการต่อการทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพและความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย 2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบกองทัพ ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในหน่วยงานความมั่นคงของกองทัพ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส่และความคุ้มค่าในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของกองทัพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ รวมถึงการสร้างความรับรู้ข้อมูลของกองทัพ เป็นต้น 3) การรักษาความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน โดยรัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส จะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตและเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้อง รวมถึงการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ต้องยึดหลักคุณธรรม นิติรัฐและนิติธรรมในการบริหารประเทศ และต้องฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ