
อรรถพล เมืองมิ่ง. (2560). การจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารที่ผิดพลาด จากรัฐประหารปี 2549 สู่รัฐประหารปี 2557 : บทเรียนสู่สังคมไทยเพื่อการปฏิรูปกองทัพ. วารสารรัฐศาสตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560) หน้า 83-115
บทบาทของทหารในทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารหลังการรัฐประหารปี 2549
แม้ก่อนหน้านี้สังคมไทยจะเชื่อว่ากองทัพได้ตายไปจากการเมืองไทยแล้วด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การที่พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็ได้ตอกย้ำกับสังคมไทยว่ากองทัพมิได้ถอยออกจากการเมืองแต่อย่างใด และพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงทางการเมืองทุกเมื่อหากมีสิ่งเร้าหรือผลกระทบต่อกองทัพ หลังการรัฐประหารปี 2549 กองทัพได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองในฐานะผู้ปกครองประเทศก่อนที่จะยินยอมให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 แต่กระนั้นการหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก โดยกองทัพได้วางรากฐานทางการเมืองพร้อมทิ้งมรดกที่สำคัญไว้ให้กับรัฐบาลพลเรือนที่จะเข้าทำหน้าที่ต่อจากรัฐบาลทหาร หนึ่งในนั้นคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้สาระสำคัญจะไม่ได้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มากนัก แต่เนื้อหาบางประการก็เปิดโอกาสให้ทหารหรือตัวแทนกองทัพเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองผ่านการเป็นสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง นอกจากนี้ การออกกฎหมายลูกอื่น ๆ ยังได้เพิ่มบทบาทของทหารในทางการเมือง รวมถึงการป้องกันผลประโยชน์ของกองทัพ โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่เพิ่มอำนาจให้ทหารสามารถแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารระดับนายพลได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการป้องกันฝ่ายพลเรือนเข้าควบคุมกองทัพ แม้จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายได้ แต่กระบวนการดังกล่าวก็อยู่ในรูปของคณะกรรมการซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารของกองทัพ อีกฉบับคือ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ได้เพิ่มอำนาจและบทบาททหารในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และสุดท้ายคือ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลปกป้องประโยชน์ของกองทัพ โดยที่กองทัพเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ระบบ VHF ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 สถานี จาก 5 สถานี และเป็นเจ้าของสถานีวิทยุที่มีเครือข่ายกระจายเสียงทั่วประเทศ แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งในเวลาต่อมาจนมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับพบว่าตลอดระยะเวลาหลังจากนี้ ทหารยังสามารถเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อรัฐบาลพลเรือนอยู่มิน้อย ทั้งลักษณะของการเป็นปฏิปักษ์และการสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ รัฐบาลพลเรือนเองยังเป็นตัวแปรสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง พร้อมการสนับสนุน และเป็นที่พึ่งพิง จนสูญเสียดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งในปลายปี 2550 แม้ผลปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนที่สืบทอดเจตนารมณ์มาจากพรรคไทยรักไทยและโดยพฤตินัยแล้วยังถือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพจะชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลอันเชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปกองทัพได้ แต่ตลอดระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลกลับไม่มีเสถียรภาพมานักด้วยปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ทำให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ มีอายุการบริหารงานรวมไม่ถึง 1 ปี และสถานการณ์ทางการเมืองต้องเปลี่ยนไปเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฉิมาธิปไตย ทำให้เกิดการย้ายขั้วพรรคการเมือง และเกิดพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคภูมิใจไทยที่อดีตเคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนมาก่อนมาร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 27 ดังนั้น ในช่วงตลอดปี 2551 จึงไม่ปรากฏภาพการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารที่ชัดเจน แต่หากพิจารณาถึงบทบาทของทหารในทางการเมืองในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนจะพบว่า กองทัพได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เช่น การที่กองทัพปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการจัดการกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การให้สัมภาษณ์สดของผู้นำเหล่าทัพในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ที่แสดงออกถึงการกดดันนายสมชาย ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ได้ปรากฏภาพของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้รัฐบาลยังมีสถานะที่ต้องพึ่งพิงจากกองทัพเพื่อความมีเสถียรภาพทางการเมือง โดยการนำกองทัพเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองด้วยเหตุผลของความมั่นคงของชาติ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การที่กองทัพให้การสนับสนุนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในการอำนวยความสะดวกให้ใช้หน่วยงานของกองทัพเป็นที่ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งในปี 2552 และปี 2553 จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้การสนับสนุนและยินยอมตามข้อเสนอของกองทัพทั้งด้านงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ และการปฏิรูปกองทัพอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง จนมีลักษณะของการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจากการแสดงบทบาทของกองทัพในการเมืองและการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นี้ก็ได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจนทำให้กองทัพถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมือง จนกระทั่งการเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพกรณีการสลายการชุมนุมในปี 2553 หลังการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายอภิสิทธิ์จึงเกิดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2554 จนทำให้พรรคเพื่อไทยโดยการนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจนกลายเป็นความพ่ายแพ้ของกลุ่มการเมืองที่มีชนชั้นกลางและชนชั้นนำ โดยเฉพาะกองทัพที่คอยให้การสนับสนุน และยังเป็นความสำเร็จของกลุ่มอำนาจของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่สามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้อีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 และการยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีความเชื่อว่าจะสามารถสร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพโดยการสร้างความเป็นทหารอาชีพและการนำทหารออกจากพื้นที่การเมือง แต่ทว่าตลอดช่วงระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์กลับมิได้ราบรื่นหรือแตกต่างจากรัฐบาลนายสมัครหรือนายสมชาย ทั้งข้อจำกัดทางด้านการเมือง กฎหมาย รวมถึงด้านอื่น ๆ จนกลายเป็นอุปสรรคในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์กลับมีทีท่าประนีประนอมกับชนชั้นนำและกองทัพเพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความราบรื่นและปราศจากการแทรกแซงจากกองทัพด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากความละเลยในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารให้เหมาะสม โดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังได้ส่งผลให้กองทัพอาศัยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทำรัฐประหารในปี 2557 จนทำให้กองทัพอยู่ในสถานะผู้ปกครองประเทศและยังทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ดังนั้น เนื้อหาต่อ จากนี้จึงเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รวมถึงปัจจัยและเงื่อนไขที่นำมาสู่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารจนกลายเป็นความผิดพลาดและนำมาสู่การแทรกแซงทางการเมืองของทหารในปี 2557
มิติความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
1. ด้านการเมือง การปกครอง และกฎหมาย
1) การประสานประโยชน์และการประนีประนอมกับกองทัพ นับตั้งแต่การเข้าสู่สนามการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย และผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 โดยนางสาวยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยได้ ชูนโยบายทางการเมืองที่สำคัญและถือเป็นนโยบายเร่งด่วนอย่างหนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการปรองดองในสังคมไทย หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การกล่าวสุนทรพจน์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า “ไม่คิดแก้แค้น แต่จะแก้ไข” จะได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ถึงความพยายามในการประนีประนอมระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง ท่ามกลางการเรียกร้องจากกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อกดดันให้มีเร่งสืบค้นหาความจริงกรณีการสลายการชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงได้รับผลกระทบโดยตรงและกองทัพก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ จะมีความพยายามในการสร้างความปรองดองผ่านการตั้งคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการค้นหาความจริงในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 แต่กลับพบว่า รัฐบาลเลือกที่จะนำข้อเสนอบางประการของสถาบันพระปกเกล้ามาใช้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การออก พ.ร.บ. ปรองดอง และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ จากเดิมที่เสนอให้เน้นนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อนับจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 แต่ภายหลังกลับมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้นิรโทษกรรมทุกฝ่าย ซึ่งรวมทหารผู้สั่งการและปราบปรามประชาชนด้วย จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเลือกที่จะลืมเหตุการณ์ความรุนแรงและเลือกที่จะไม่จัดการหรือเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้แสดงออกถึงความพยายามที่จะสร้างสานสัมพันธ์หรือการประนีประนอมกับทหารและกองทัพ รวมถึงชนชั้นนำแบบมีนัยสำคัญอยู่หลายครั้ง เช่น การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ถือเป็นนัยสำคัญทางการเมืองที่แสดงถึงความพยายามในการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลและกองทัพ โดยเฉพาะการเข้ามานั่งตำแหน่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของนางสาวยิ่งลักษณ์ แทน พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่แข็งกร้าวและยังคานอำนาจเหล่าทัพ ในก่อนหน้านี้ และยังแต่งตั้ง พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่สุขุม นุ่มนวล ซึ่งแตกต่างจาก พล.อ.อ. สุกำพล อีกทั้งการเข้าพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ของนางสาว ยิ่งลักษณ์ การเลือก พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะปฏิรูปสถาบันทหารอย่างจริงจัง แต่กลับเพิ่มงบประมาณของกองทัพสูงขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นต้น 2) การปฏิรูปกองทัพ แนวคิดการปฏิรูปกองทัพในประเทศไทยที่ถือว่ามีความก้าวหน้าและชัดเจนนั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จากกระแสเรียกร้องของประชาชนให้มีการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้สอดรับกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมคือ การปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการปรับลดกำลังพล ขณะเดียวกันในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามในการปฏิรูปกองทัพเช่นกัน แต่ก็มีเหตุปัจจัยหรือตัวแปรแทรกซ้อนทั้งภายในและภายนอก ส่งผลให้การปฏิรูปกองทัพตามแผนแม่บทการปฏิรูปกระทรวงกลาโหมและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพซึ่งริเริ่มในรัฐบาลนายชวน และมีการดำเนินการจัดทำมาอย่างต่อเนื่องต้องเปลี่ยนทิศทางไป อีกทั้งยังมีการแสดงความไม่พอใจและการต่อต้านจากฝ่ายทหารด้วยเช่นกัน จึงทำให้การปฏิรูปกองทัพในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นอันต้องหยุดชะงักลง ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมิได้ส่งเสริมและดำเนินการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลอื่น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังได้จัดตั้งและเพิ่มกำลังพล รวมถึงการขยายหน่วยงานของกองทัพด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ แม้จะมีท่าทีในการประนีประนอมกับกองทัพและชนชั้นนำอยู่บ้าง แต่ก็มีแนวคิดในการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายในการต่อต้านการปฏิวัติและรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นความพยายามในการต่อสู้เชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ซึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่แสดงให้พรรคเพื่อไทยเห็นชัดแล้วว่า กองทัพได้กลับเข้าสู่วงจรทางการเมืองอีกครั้ง ทั้งยังมีอำนาจเปรียบเสมือนรัฐซ้อนรัฐที่อาจนำมาสู่การรัฐประหารขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ กองทัพยังกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลพลเรือนโดยเฉพาะขั้วอำนาจทางการเมืองในเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ไปแล้ว และเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจนหวนกลับเข้ามามีอำนาจในฐานะรัฐบาลอีกครั้ง ความพยายามในการปฏิรูปกองทัพจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องทำ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะเข้าจัดการกับกองทัพอย่างเด็ดขาดอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ขัดขวางนานัปการ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง กลาโหมที่มี พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 รองรับเอาไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่คุ้มกันกองทัพจากฝ่ายการเมือง และหากรัฐบาลทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อกองทัพมากเกินไปก็อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเลือกที่จะดำเนินการในครั้งนี้คือการผลักดันให้มีกฎหมายในการต่อต้านการปฏิวัติและรัฐประหาร ซึ่งร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอโดยนายประสพ บุษราคัม เลขานุการประธานรัฐสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง การปฏิวัติ และการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้อำนาจฝ่ายการเมืองอยู่เหนือฝ่ายทหาร สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้เป็นการดูแลในกรณีที่มีการปฏิวัติและรัฐประหาร โดยระบุไว้ในมาตรา 5 ว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อการรบหรือการสงคราม ปราบปรามล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือกบฏ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหน่วยงานและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารพร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ ทั้งนี้เพื่อให้กลไกการใช้อำนาจรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการควบคุมอำนวยการยุทธและการควบคุมบังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้น โดยกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย ทั้งนี้เพื่อให้กลไกการใช้อำนาจรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังกำหนดไว้ใน หมวด 6 เรื่องการถวายอารักขา ว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของกรมราชองครักษ์ ในการถวายอารักขา ความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอคันตุกะ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในกรณีที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร กบฏ หรือการกระทำอื่นใดในลักษณะเดียวกันให้สมุหราชองครักษ์มีหน้าที่จัดกองกำลังเพื่อถวายอารักขา ความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และให้มีอำนาจเรียกกำลังพลทหาร ข้าราชการและตำรวจมาประจำการยังกองกำลังที่จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายอารักขา และมีอำนาจสั่งใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหารเพื่อการดังกล่าว และให้กำลังพลที่เรียกมาพ้นจากการกำกับบังคับบัญชาของต้นสังกัดเดิม และให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของสมุหราชองครักษ์ และให้มีหน้าที่ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้ามีการฝ่าฝืนให้ถือเป็นการทำความผิดร้ายแรง ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้บำเหน็จความดีความชอบ นอกจากนี้แล้วยังได้เสนอให้การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ในมาตรา 25 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกล่าวไว้ในหัวข้อถัดไป จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายนี้ก็คือเครื่องมืออันสำคัญของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่พยายามป้องกันการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของทหารหรือการรัฐประหารโดยการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมากขึ้นแทนการเข้าไปจัดการกับกองทัพหรือปฏิรูปที่จะส่งผลกระทบต่อกองทัพโดยตรงซึ่งอาจจะกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองทัพได้ แสดงถึงความประนีประนอมระหว่างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์กับกองทัพอยู่บ้าง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลพลเรือนพยายามปฏิรูปโดยการลดกำลังพล การปรับโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงเปรียบเสมือนการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือเป็นเครื่องมือหรือสัญญาณเตือนให้กองทัพพึ่งระลึกว่าการทำรัฐประหารในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ยาก และสามารถมีกองกำลังในการต่อต้านการปฏิวัติและรัฐประหารได้ แต่ในท้ายที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มิได้ถูกประกาศใช้แต่อย่างใด 3) ความเป็นอิสระของกองทัพ ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 คณะรัฐบาลทหารนำโดย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทิ้งผลผลิตที่สำคัญไว้มากมายก่อนที่จะเปิดทางให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับกองทัพที่เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่ทำให้กองทัพมีความเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลพลเรือนและมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ การออก พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 โดยเนื้อหาสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง หรือการทำให้กองทัพปราศจากการเมืองแทรกแซง และต้องการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง ส่งผลให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองแทบไม่มีอำนาจหรือสามารถเข้าไปโยกย้ายตำแหน่งสำคัญหรือจัดโผทหารเองได้โดยง่ายเหมือนกับข้าราชการในองค์กรอื่น โดยเฉพาะ มาตรา 25 ที่ระบุไว้ในวรรค 2 และ 3 ซึ่งวรรค 2 นั้นระบุไว้ว่า “การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด” สำหรับคณะกรรมการที่จะพิจารณานั้น ในวรรค 3 ระบุไว้ว่า “...ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสองและระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย” ดังนั้น เมื่อพิจารณามาตรา 25 ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้ว จะพบว่า กรรมการส่วนใหญ่มาจากนายทหารที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพแทบจะทั้งสิ้น มีเพียงรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการเท่านั้นที่เป็นฝ่ายการเมือง
จากข้อจำกัดดังกล่าวนี้ ทำให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทย พยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดทางให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ เนื่องจากรัฐมนตรี ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหาร การกำหนดนโยบาย แต่กลับไม่มีอำนาจสั่งการหรือแต่งตั้งตัวบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมได้ เพราะติดขัดด้วยมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ต้องกระทำโดยผ่านคณะกรรมการ อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ยังให้อำนาจกับทหารและกองทัพมากเกินไป ทั้งที่โดยนิตินัยแล้วนายกรัฐมนตรีต้องมีส่วนเข้าไปดูแลและมีอำนาจในการตัดสินใจด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวง กลาโหม พ.ศ. 2551 ตามความต้องการของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้น กลับพบอุปสรรคประการสำคัญ คือ ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนแตกต่างจากการแก้กฎหมายทั่วไป กล่าวคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้จะต้องผ่านสภากลาโหม ตามมาตรา 42 และ 43 ซึ่งสมาชิกสภากลาโหมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทหารแทบทั้งสิ้น ได้แก่ ผู้นำเหล่าทัพแต่ละเหล่าทัพ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพ และราชองครักษ์ ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น คือ รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในกรณีถ้ามีรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน นอกจากนี้ในมาตรา 43(5) ยังได้ระบุไว้ว่า ในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม อันประกอบไปด้วยเรื่อง (1) นโยบายการทหาร (2) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร (3) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม (4) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม (5) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร และ (6) เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้เสนอสภากลาโหม จะเห็นได้ว่า นอกจากมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการแทรกแซงและควบคุมของฝ่ายการเมืองแล้ว ในมาตรา 43(5) ยังได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหารจะต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหมเท่านั้น” ดังนั้น ในมาตรา 43 จึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งในการสกัดกั้นและป้องกันฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหารไว้เกือบทุกเรื่อง ทำให้การแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองนั้นจึงแทบจะเป็นไปได้ยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดบางมาตราและมีการประกาศใช้ฉบับใหม่ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 แต่เนื้อหาสาระของพระราชบัญญัตินี้ยังไม่แตกต่างจากฉบับเดิม และไม่มีการแก้ไขในมาตรา 25 หรือมาตรา 43 ที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคสำหรับรัฐบาลพลเรือนแต่อย่างใด ดังนั้น การมี พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่ด้านหนึ่งเป็นเครื่องมือที่สร้างความเป็นอิสระให้แก่กองทัพและยังเป็นการคุ้มกันหรือป้องกันมิให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่ายกิจการภายในของกองทัพได้ แต่อีกด้านหนึ่งหากกองทัพมีความเป็นอิสระมากเกินไป ไร้การควบคุมจากรัฐบาลพลเรือนตามหลักการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็จะทำให้รัฐบาลพลเรือนมีความอ่อนแอ หากเกิดวิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นอาจนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเสียเอง จนทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักได้ 4) การโยกย้ายตำแหน่งนายทหารสำคัญของกองทัพ เมื่อถึงฤดูกาลแต่งตั้งและโยกย้ายตำแหน่งนายทหารสำคัญประจำปีของกองทัพก็จะถูกจับตามองจากหลายฝ่ายเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้นำเหล่าทัพซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในหลายด้าน โดยในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์นี้พบว่าปัญหาข้อขัดแย้งของการแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารมีไม่มากนัก เนื่องจากในหลายตำแหน่งยังอยู่อายุราชการที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกที่มีบทบาททางการเมืองสูงกว่าผู้นำเหล่าทัพอื่น นอกจากนี้ ด้วยข้อกฎหมายที่จำกัดจาก พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และท่าทีในการประนีประนอมของรัฐบาลก็ทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองไม่สามารถที่จะแทรกแซงในการแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารประจำปีได้ อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏภาพความเห็นไม่ตรงกันซึ่งกลายเป็นจุดแตกหักระหว่าง พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับ พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กรณีการเสนอชื่อแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ โดยที่ พล.อ.อ. สุกำพล เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แต่ พล.อ. เสถียร ได้เสนอชื่อ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม โดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้ที่อาวุโสกว่าและเป็นคนในกระทรวง จนทำให้ พล.อ. เสถียร ต้องทำหนังสือขอเข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อชี้แจงการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว โดยมีเนื้อหาระบุ การเสนอชื่อผู้มาดำรงตำแหน่งปลัดกลาโหมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด รวมถึงบอกถึงพฤติกรรม พล.อ.อ. สุกำพล ในการก้าวก่ายแทรกแซง ใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไทยพับลิก้า, 27 สิงหาคม 2555) 5) การควบคุมทหารโดยภาคประชาชน หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา พบการตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการปรากฏบทบาทของกลุ่ม ต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยตามแบบฉบับที่กลุ่มต้องการ หากกล่าวถึงประเด็นการควบคุมทหารโดยภาคประชาชนแล้วจะพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวสนับสนุนกองทัพ รวมถึงกลุ่มที่เรียกร้องให้กองทัพหยุดการแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ถือว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย และยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเข้าสลายการชุมนุมในปี 2552 และ 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยได้ออกมาเคลื่อนไหวการเรียกร้องให้ทหารกับเข้ากรมกอง รวมถึงการเปิดเวทีปราศรัยเพื่อโจมตีการทำงานของกองทัพและต่อต้านการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของทหารอยู่ต่อเนื่อง อีกทั้งการที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในการเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงยังอาศัยบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปราย ตรวจสอบและถ่วงดุลกองทัพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้ปรากฏกลุ่มพลังทางการเมืองหลากหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านหรือขับไล่รัฐบาล ที่พัฒนามาจากการกลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของรัฐบาล โดยระยะหลังมีการเรียกร้องให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองจนทำให้การควบคุมทหารตามระบอบประชาธิปไตยเปลี่ยนทิศทางไป
2. ด้านการจัดการงบประมาณ
1) การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในปี 2540 หรือที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” และเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับวงเงินงบประมาณของประเทศที่เป็นแบบเกินดุล ร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทำให้กระทรวงต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ลดน้อยลงไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายลงไปมากและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว แต่รัฐบาลก็มิได้ให้ความสำคัญในการปรับเพิ่มงบประมาณของกระทรวงกลาโหมมากเท่าไรนัก ถึงแม้ในบางปีจะได้รับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สูงมากแบบมีนัยสำคัญ และเมื่อเทียบสัดส่วนงบประมาณกระทรวงกับงบประมาณประเทศก็พบว่ามีสัดส่วนที่ลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์การรัฐประหารในปี 2549 กลับพบว่ากระทรวงกลาโหมกลายเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมเคยได้รับที่ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงก่อนการรัฐประหาร แต่ภายหลัง งบประมาณดังกล่าวกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและยังเป็นขั้วอำนาจเก่าที่ถือเป็นคู่ปฏิปักษ์กับทหารโดยเฉพาะรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็มิได้มีทีท่าว่าจะมีการปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงแต่อย่างใดและมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น (โปรดพิจารณาในตารางที่ 1) ขณะที่หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตถึงการเพิ่มงบประมาณด้านทหารและการป้องกันประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า อาจเกิดจากความเกรงใจจากการที่ฝ่ายทหารเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น แต่กองทัพก็ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มขึ้น ทั้งสภาพเศรษฐกิจของโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กรณีพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้และจีนตะวันออก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศในอาเซียนได้รับแรงกดดันให้ต้องเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลด้วยการเพิ่มงบซื้อเรือรบ เรือตรวจการณ์ เรือดำน้ำ รวมถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาแทนที่ของเก่า เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่มีอยู่เป็นอาวุธที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งกำลังจะล้าสมัยและมีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่ต้องปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพไว้ถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต นอกจากการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมแล้ว รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังได้จัดสรรเงินให้แก่ส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหมจำนวน 952 ล้านบาท เพิ่มเติม เพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทหารบรรจุใหม่ และการเลื่อนขั้นชั้นเงินเดือนเพื่อชดเชยแก่ทหารที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเงินเดือนแรกบรรจุตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม ได้รับทั้งสิ้น 18 ล้านบาท กรมราชองครักษ์ จำนวน 1.9 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 86 ล้านบาท กองทัพบก จำนวน 584 ล้านบาท กองทัพเรือ จำนวน 182 ล้านบาท และกองทัพอากาศ จำนวน 69 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการเลื่อนขั้นชั้นเงินเดือนของกระทรวงกลาโหมในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับเงินเดือนให้แก่หน่วยงานในส่วนอื่น ๆ ไปแล้ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่มีคะแนนเสียงในสภามากถึง 300 เสียง แต่ก็ไม่มีการปรับลดงบประมาณลงแต่อย่างใด ทั้งยังมีการอนุมัติและจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรสังกัดกระทรวงกลาโหมด้วย แสดงให้เห็นถึงความเกรงใจและความพยายามในการประนีประนอมในเชิงอำนาจผ่านผลประโยชน์ด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อกองทัพและยังทำให้กองทัพได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐบาลที่จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้โดยปราศจากการแทรกแซงหรือการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองของกองทัพมากยิ่งขึ้น 2) การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ จากที่ได้อธิบายและพิจารณาถึงการจัดสรรงบประมาณของกระทรวง กลาโหมหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาในข้างต้นก็จะพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยถูกปรับลดลงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนส่งกระทบต่อกองทัพทำให้เกิดความขาดแคลนงบประมาณเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพโดยเฉพาะการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งของกองทัพ จากการปรับเพิ่มขึ้นของงบประมาณกระทรวงกลาโหมอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา แผนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง รวมถึงการอนุมัติจัดซื้อเป็นอันสำเร็จทั้งโครงการเล็กจนไปถึงโครงการที่ต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล เช่น โครงการจัดซื้ออาวุธ โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ โครงการจัดซื้อยานเกราะ โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือเหาะในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่กองทัพได้รับการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งจากคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และประชาชนโดยทั่วไปถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานของเครื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังถูกตั้งข้อกังขาถึงการอนุมัติงบประมาณที่ถี่จนเกินไปโดยไม่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นในขณะนั้น สำหรับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้มีแผนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หลายประเภทเช่นกัน เช่น ในปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธขนาดเบา AS-500/C3 (FENNEC) จากบริษัทยูโรคอปเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 8 ลำ เป็นเงินกว่า 1,500 ล้านบาท ในปี 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกต จำนวน 2 ลำ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ระยะดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559 การอนุมัติเงินก่อหนี้ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557 ระยะเวลา 3 ปี โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร ระยะ 2 มูลค่ากว่า 3.3 พันล้านบาท การอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557 ในโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไปของกองทัพบก ระยะ 1 ห้วงที่ 3 มูลค่า 2.8 พันล้านบาท ส่วนในปี 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี พ.ศ. 2557-2561 ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือ จำนวน 1 ลำ วงเงินกว่า 14,997 ล้านกว่าบาท ที่ต่อเรือจากอู่บริษัทแดวู ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงการอนุมัติงบกลางประจำปี พ.ศ. 2556 ให้กองทัพอากาศ จำนวน 718 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบิน และจัดสรรเป็นงบซ่อมบำรุง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการหยิบยกการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากประเทศเยอรมนีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งกองทัพเรือเคยเสนอขออนุมัติงบประมาณไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใดจนกระทั่งมีการยุบสภา อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เช่นกัน
3. ด้านความมั่นคงของประเทศ
บทบาททหารถูกเพิ่มมากขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ได้เพิ่มอำนาจและบทบาททหารในกำหนดนโยบายและการปฏิบัติการด้านความสงบเรียบร้อยในประเทศผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) ซึ่งเดิมถูกแปรสภาพมาจากกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ในปี 2516 ที่มีภารกิจเพียงการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลังภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ลดน้อยลงจึงมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ในรัฐบาลนายชวน และได้ปรับบทบาทของ กอ.รมน. ให้ปฏิบัติภารกิจทางด้านป้องกันปราบปรามยาเสพติด การจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี การปฏิบัติงานด้านการข่าว และการปฏิบัติการจิตวิทยา ต่อมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ มีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. ใหม่ และได้ปรับลดบทบาทของ กอ.รมน. ลง โดยเฉพาะด้านการแก้ไขความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และเพิ่มบทบาทด้านการประสานงานแทน ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ถูกประกาศใช้ก็จะทำให้ทหารสามารถเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองในฐานะผู้รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหากได้รับคำสั่ง ซึ่งในมาตรา 3 นั้นก็ได้ให้นิยามของ “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” อย่างกว้าง ๆ ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ให้กลับสู่สภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และเมื่อพิจารณาจากมาตราอื่นก็จะพบว่าไม่มีมาตราใดที่ให้คำนิยามของคำว่า “ความมั่นคง” หรือ”ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ไว้ จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้ทหารสามารถเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองได้เพื่อปกป้องรัฐบาลมากกว่าการป้องกันภัยคุกคามภายในประเทศอย่างแท้จริง
โปรดติดตามต่อใน
การจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารที่ผิดพลาด จากรัฐประหารปี 49 สู่รัฐประหารปี 57 : บทเรียนสู่สังคมไทยเพื่อการปฏิรูปกองทัพ (ตอนที่ 3)