รู้จัก อบต.คำนาดี

ข้อมูลทั่วไป
ในอดีตตำบลคำนาดีเคยอยู่ในเขตปกครองท้องที่ของตำบลโนนสมบูรณ์ ต่อมาได้แยกออกจากตำบลโนนสมบูรณ์มาตั้งเป็นตำบลนาสวรรค์ ด้วยความเป็นตำบลที่ใหญ่และมีประชากรเพิ่มขึ้น จึงได้แยกออกมาเป็นตำบลคำนาดีในปี 2523 โดยมีกำนันคนแรก คือ นายวิเชียร สุวรรณ์วงค์ ต่อมามีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีเป็นหน่วยงานราชการปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้ พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ในปี 2539 โดยมีนายเลิศ พรมแดน ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีคนแรก ซึ่งก็คือตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปัจจุบัน
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ตั้งอยู่เลขที่ 114 หมู่ที่ 1 ตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ ไปทางถนนบึงกาฬ - พังโคน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองบึงกาฬ 25 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดบึงกาฬ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ หรือพื้นที่ 65.65 ตารางกิโลเมตร หรือ จำนวน 40,975 ไร่
ภูมิประเทศขององค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี มีลักษณะเป็นที่เป็นพื้นที่ลุ่มสันดอน อยู่ในเขตพื้นที่ สปก. 4-01 ประชากรส่วนใหญ่ปลูกยางพารา พื้นที่มีลักษณะเป็นดินร่วนทรายไม่เก็บกักน้ำ หน้าดินถูกชะล้าง ฤดูฝนมีฝนปริมาณมาก ฝนตกต่อเนื่องระยะยาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ของทุกปี ทำให้น้ำท่วมขังสูง
ลักษณะอากาศมีลักษณะร้อนชื่น อากาศเปลี่ยนแปลงไปตามฤดู ซึ่งมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนและแห้งแล้ง

จุดเด่นของพื้นที่ตำบลคำนาดีมีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 32,780 ไร่ ทำนา 8,195 ไร่
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี มีเนื้อที่ ทั้งหมด ประมาณ 65.56 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตติดกับตำบลใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดเขตบ้านหนองตอ ตำบลนาสวรรค์ อำเภอเมืองบึงกาฬ
ทิศตะวันออก ติดเขตบ้านโนนจำปา ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ
ทิศใต้ ติดเขตบ้านโนนม่วง ตำบลชุมภูพร อำเภอศรีวิไล
ทิศตะวันตก ติดเขตบ้านนาซาว ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ
พื้นที่และการปกครองของ ตำบลคำนาดี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นหมู่บ้านแฝด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่แยกเป็นหลายหมู่บ้าน โดยใช้ศาลาประชาคมหมู่บ้านเป็นจุดแบ่งพื้นที่หมู่บ้าน เช่น บ้านคำนาดี - อีแฮต บ้านนาเจริญ-ห้วยเรือใหญ่ และบ้านชุมภูทอง-ห้วยภูสามัคคี ตำบลคำนาดี มีประชากรทั้งสิ้น 5,247 คน แยกเป็นชาย 2,698 คน หญิง 2,549 คน และมีจำนวนครัวเรือน 1,483 ครัวเรือน มีความหนาแน่นของประชากร 79 คน ต่อตารางกิโลเมตร ได้แก่
หมู่ที่ 1 บ้านคำนาดี
หมู่ที่ 2 บ้านอีแฮต
หมู่ที่ 3 บ้านนาเจริญ
หมู่ที่ 4 บ้านห้วยเรือใหญ่
หมู่ที่ 5 บ้านดอนแก้ว
หมู่ที่ 6 บ้านโนนอินทร์แปลง
หมู่ที่ 7 บ้านชุมภูทอง
หมู่ที่ 8 บ้านห้วยภูสามัคคี
ข้อมูลด้านสังคม
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
-
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ตั้งอยู่บ้านคำนาดี หมู่ 1
-
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสุวรรณบรรพต ตั้งอยู่ที่วัดสุวรรณบรรพต บ้านชุมภูทอง หมู่ 7
มีโรงเรียนในพื้นที่ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่
-
โรงเรียนเลิดสิน ตั้งอยู่บ้านอีแฮต หมู่ 2 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 3
-
โรงเรียนบ้านนาเจริญวิทยา ตั้งอยู่บ้านห้วยเรือใหญ่ หมู่ 4 เปิดเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
-
โรงเรียนบ้านดอนแก้ว - โนนอินทร์แปลง ตั้งอยู่บ้านดอนแก้ว หมู่ 5 เปิดเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
-
โรงเรียนบ้านชุมภูทอง ตั้งอยู่บ้านห้วยภูสามัคคี หมู่ 8 เปิดเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
ตำบลคำนาดี มีสถานบริการสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำนาดี ตั้งอยู่บ้านคำนาดี หมู่ 1 ตรงข้ามกับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี
ตำบลคำนาดี มีศาสนสถาน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ วัด 7 แห่ง และสำนักสงฆ์ 2 แห่ง ดังนี้
-
วัดดานสามัคคีธรรม (วัดประจำตำบลคำนาดี)
-
วัดศรีบุญเรือง
-
สำนักสงฆ์ลานธรรม
-
วัดไชยมงคลสามัคคี
-
วัดป่าห้วยเรือใหญ่เจริญธรรม
-
วัดเรไลย์นภาราม
-
สำนักสงฆ์โพธิ์แก้ววราราม
-
วัดปิ่นแก้วอัมไพรวัลย์
-
วัดสุวรรณบรรพต
วัดดานสามัคคีธรรม
ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดีได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การจัดงานประเพณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีบุญบั้งไฟ ลอยกระทง การแข่งขันเรือยาว เป็นต้น และได้ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดานถ้ำเขียวสะอื้นและวัดดานสามัคคี ซึ่งเป็นวัดประจำตำบลคำนาดี มีประชาชนเดินทางมาทำบุญเป็นจำนวนมากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำตำบล
ตำบลคำนาดี เป็นพื้นที่ชุมชนชนบท ไม่มีสถานบริการ ไม่มีโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตู้กดเงินสดของธนาคาร (ATM) ไม่มีตลาดสด แต่สถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กจำนวน 10 แห่ง เป็นตู้เติมน้ำมันเล็กตามหมู่บ้าน มีร้านค้าขายของชำ หรือร้านค้าชุมชน จำนวน 8 แห่ง โดยร้านค้าชุมชนเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนร่วมกันทำการค้าขายในหมู่บ้านโดยชาวบ้านเป็นสมาชิกถือหุ้น มีการเลือกตั้งกรรมการ บริหารร้านค้าโดยคัดเลือกจากสมาชิกผู้ถือหุ้น และมีการปันผลกำไร (เงินปันผลจากค่าหุ้นหรือเงินปันผลคืนจากการซื้อสินค้า) ของร้านค้าคืนให้กับสมาชิก ซึ่งร้านค้าชุมชนในตำบลคำนาดีเกิดมาจากความต้องการของคนในชุมชนที่อยากมีร้านค้าเกิดขึ้นในชุมชน ที่สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคายุติธรรม ไม่ต้องเดินทางเข้าไปซื้อในเมือง เป็นเสมือนสวัสดิการหนึ่งในชุมชน ร้านค้าชุมชนบ้านวังเจ้าจึงถือกำเนิดจากเงินทุนของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน
จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานพบว่าประชากรที่มีอายุ 15 - 60 ปี เป็นผู้ใช้แรงงานถึงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับอัตราส่วนกับจังหวัดเพียงร้อยละ 74 เท่านั้น ซึ่งสูงกว่ามาก แต่ค่าแรงในพื้นที่ต่ำกว่าระดับจังหวัด โดยเฉพาะแรงงานด้านการเกษตร ประชากรอายุระหว่าง 25 - 50 ปี ส่วนใหญ่ไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่ รวมทั้งแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือประชากรต้องไปทำงานนอกพื้นที่ในเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้านใหญ่ๆ เพราะในพื้นที่ตำบลคำนาดีไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานเยอะ เนื่องจากพื้นที่ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัย